วันจันทร์ที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2552

การฝึกบุคคลท่ามือเปล่า 2

ท่าซ้ายหัน
๑. คำบอก “ซ้าย – หัน” (คำบอกแบ่ง)
๒. การปฏิบัติ ท่านี้แบ่งออกเป็นสองจังหวะดังต่อไปนี้ คือ
จังหวะหนึ่ง เมื่อได้ยินคำบอก “ซ้าย – หัน” ให้เปิดปลายเท้าซ้ายให้สูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย
โดยพยายามกดส้นเท้าให้ตรึงอยู่กับที่ แล้วหมุนตัวไปทางซ้ายจนได้ ๙๐ องศา ด้วยการใช้ส้นเท้าซ้าย
เป็นจุดหมุน ในขณะเดียวกันนั้นให้ใช้ปลายเท้าขวากดแน่นไว้กับพื้นเพื่อช่วยให้มีการทรงตัวที่ดีในระหว่าง
หมุนตัว แล้วเปิดส้นเท้าหมุนตามไปด้วย โดยพยายามกดปลายเท้าไว้ ณ ที่เดิมในลักษณะให้ขาเหยียดตึง
ในขณะที่หมุนตัวไปนั้นจะต้องพยายามรักษาทรวดทรงของลำตัว และการวางมือทั้งสองให้อยู่ในลักษณะ
ของท่าตรงตลอดเวลาด้วย เมื่อหมุนตัวไปได้ที่แล้วจะต้องอยู่ในท่ายืนที่วางน้ำหนักตัวทั้งหมดไว้บนเท้าซ้าย
ขาขวาเหยียดตึงไปทางด้านหลังทางขวาส้นเท้าเปิดและบิดออกไปทางด้านนอกของลำตัว
จังหวะสอง ชักเท้าขวามาชิดกับเท้าซ้าย เพื่อยืนในลักษณะของท่าตรงอย่างรวดเร็ว
และแข็งแรง
...................................
ท่าเคารพ
ท่าเคารพสามารถใช้แสดงความเคารพได้ทั้งขณะอยู่กับที่และเคลื่อนที่ แบ่งออกเป็น ๒ ประเภท
คือ ท่าแลขวา แลซ้าย และท่าวันทยหัตถ์
ท่าแลขวาแลซ้าย ท่าแลขวาแลซ้ายเป็นท่าแสดงความเคารพได้ทั้งขณะอยู่กับที่และเคลื่อนที่โดยปฏิบัติจากท่าตรง ในโอกาสเมื่อไม่สวมหมวก
๑. คำบอก “แลขวา (แลซ้าย) – ทำ” และ “แล – ตรง” (คำบอกแบ่ง)
๒. การปฏิบัติ เมื่อได้ยินคำบอก “แลขวา (แลซ้าย) – ทำ” ให้สะบัดหน้าไปทางขวา (ทางซ้าย)
ประมาณกึ่งขวา (กึ่งซ้าย) อย่างแข็งแรง ร่างกายส่วนอื่นๆ ยังคงอยู่ในลักษณะของท่าตรง เมื่อได้ยินคำบอก
“แล – ตรง” ให้สะบัดหน้ากลับมาอยู่ในท่าตรงตามเดิม ร่างกายส่วนอื่นๆ ยังคงอยู่ในลักษณะของท่าตรง
ท่าวันทยหัตถ์ สามารถใช้แสดงความเคารพได้ทั้งขณะอยู่กับที่และเคลื่อนที่ เมื่อสวมหมวก ประกอบด้วย
ท่าตรงหน้าวันทยหัตถ์ ท่าทางขวาวันทยหัตถ์ และท่าทางซ้ายวันทยหัตถ์
๑. คำบอก (คำบอกรวด)
ท่าตรงหน้าวันทยหัตถ์ ใช้คำบอก “วันทยหัตถ์” หรือ “ตรงหน้าวันทยหัตถ์”
ท่าทางขวาวันทยหัตถ์ ใช้คำบอก “ทางขวา, วันทยหัตถ์”
ท่าทางซ้ายวันทยหัตถ์ ใช้คำบอก “ทางซ้าย, วันทยหัตถ์”
เมื่อต้องการให้เลิกแสดงความเคารพ ใช้คำบอก “มือลง”
๒. การปฏิบัติ
เมื่อได้ยินคำบอก “วันทยหัตถ์” หรือ “ตรงหน้า, วันทยหัตถ์” ให้ยกมือขวาขึ้นอย่าง
รวดเร็วและแข็งแรง พร้อมกับงอแขนท่านล่างเข้ามาหาลำตัว ฝ่ามือเหยียดตรงไปตามแนวแขนท่อนล่าง
นิ้วทั้งห้าเรียงชิดติดกันและข้อมือไม่หัก โดยนำปลายนิ้วชี้ไปแตะตรงขอบล่างของหมวกประมาณเหนือ
แนวหางตา หรือขอบล่างของกะบังหมวกทางด้านขวา หรือที่ขอบปีกหมวกทางด้านขวาประมาณเหนือ
แนวหางตาขวา (หมวกทรงกลมพับปีกของทหารหญิง) โดยให้เปิดฝ่ามือขึ้นประมาณ ๓๐ องศา แขนขวา
ท่อนบนให้เหยียดยื่นออกไปทางด้านข้างเสมอแนวไหล่ แต่ให้เฉียงไปข้างหน้าเล็กน้อย ร่างกายส่วนอื่น
ต้องไม่เสียลักษณะของท่าตรง สายตามองตรงไปข้างหน้าในแนวระดับ
เมื่อได้ยินคำบอก “ทางขวา (ทางซ้าย) วันทยหัตถ์” ให้ยอกมือขวาขึ้นทำท่าวันทยหัตถ์
อย่างรวดเร็วและแข็งแรง ในลักษณะเดียวกับท่าตรงหน้าวันทยหัตถ์ทุกประการ พร้อมทั้งสะบัดหน้าไป
ทางขวา (ทางซ้าย) ในลักษณะเช่นเดียวกับ แลขวา, แลซ้าย โดยไม่ต้องเอียงลำตัวหรือแขนไปทางด้านขวา
เมื่อต้องการให้เลิกแสดงความเคารพ ในทุกท่าวันทยหัตถ์ให้ใช้คำบอก “มือลง” เมื่อได้ยิน
คำบอก “มือลง” ให้ลดมือขวาลงมาอยู่ในท่าตรงอย่างรวดเร็วและแข็งแรง ถ้าปฏิบัติจากท่าทางขวา
(ทางซ้าย) วันทยหัตถ์ ให้สะบัดหน้ากลับมาในทิศทางตรงหน้า พร้อมกับการลดมือขวาลง
ท่าวันทยหัตถ์นี้ถ้ามีความจำเป็นจะกระทำจากท่านั่งก็ได้ เช่นนั่งอยู่ในรถ ขณะขับขี่
จักรยานยนต์ ฯลฯ เป็นต้น
การแสดงความเคารพทางขวา (ทางซ้าย) ไม่ว่าจะเป็นท่าแลขวาแลซ้าย หรือท่าวันทยหัตถ์
ก็ตาม ให้เริ่มแสดงความเคารพในระยะห่างระหว่างผู้แสดงความเคารพประมาณ ๓ ก้าว และเลิกแสดง
ความเคารพเมื่อผู้รับการเคารพผ่านพ้นผู้แสดงการเคารพไปแล้วประมาณ ๒ ก้าว โดยสายตาผู้แสดงการ
เคารพสบตาผู้รับการเคารพตลอดเวลาด้วยการหันหน้าตามจนกว่าจะเลิกแสดงความเคารพ จึงสะบัดหน้า
กลับมาอยู่ในท่าตรงตามเดิมไม่ใช่ใช้การชำเลืองสายตา
ในกรณีที่ผู้รับการเคารพไม่ได้เคลื่อนที่มาจนถึงตรงหน้า หรือผ่านหน้าผู้แสดงความเคารพ
ก็ให้ผู้แสดงความเคารพเลิกแสดงความเคารพ หลังจากผู้รับการเคารพตอบรับการเคารพเรียบร้อยแล้ว
หรือในจังหวะอันควร ทั้งนี้ผู้แสดงความเคารพจะต้องพึงระมัดระวังไม่ให้เลิกแสดงความเคารพก่อนผู้รับ
การเคารพเลิกตอบรับการเคารพ
การแสดงความเคารพเมื่อเคลื่อนที่
การแสดงความเคารพกระทำได้ทั้งท่าวันทยหัตถ์และท่าแลขวา แลซ้าย ให้เหมาะสมในการใช้
แต่ละท่าเมื่อเคลื่อนที่ เมื่อเดินสวนกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ การแสดงความเคารพนี้จะใช้เฉพาะเมื่อปฏิบัติ
ตามลำพัง โดยในการแสดงความเคารพเมื่อเดินสวนทางกันกับผู้บังคับบัญชาและเดินสวนทางกันกับ
ผู้ใหญ่
เมื่อเดินสวนกับผู้บังคับบัญชาหรือผู้ใหญ่ชั้นนายพล เมื่อผู้แสดงความเคารพเดินไปถึง
ในระยะห่างจากผู้รับการเคารพประมาณ ๕ ก้าว ให้ก้าวเท้าซ้าย (ขวา) ไปข้างหน้าประมาณครึ่งก้าว
พร้อมกับบิดปลายเท้าให้ชี้ไปทางทิศทางที่ผู้รับการเคารพจะเคลื่อนที่ผ่านมา แล้วให้ยืนอยู่ในลักษณะ
ท่าตรง ทำท่าทางขวาหรือทางซ้ายวันทยหัตถ์ ไปยังผู้รับการเคารพ โดยเริ่มแสดงความเคารพก่อนที่ผู้รับ
การเคารพจะมาถึง ประมาณ ๓ ก้าว สายตามองสบตาผู้รับการเคารพ และหันหน้ามองตามผู้รับ
การเคารพไปจนกว่าผู้รับการเคารพจะเคลื่อนที่ผ่านหน้าผู้แสดงการเคารพไปประมาณ ๒ ก้าว จึงสะบัด
หน้ากลับมาอยู่ในท่าแลตรงพร้อมกับลดมือขวาลงมาอยู่ในท่าตรงอย่างรวดเร็วและแข็งแรง ต่อจากนั้น
จึงหันตามทิศทางทางเดินเดิม และทำท่าเดินตามปกติต่อไป กรณีมิได้สวมหมวก นายทหารสัญญาบัตร
ใช้ท่าก้มศีรษะ นายทหารชั้นประทวนทำท่าแลขวา (แลซ้าย)
เมื่อเดินสวนกับผู้ใหญ่ เมื่อผู้แสดงการเคารพเดินไปถึงระยะห่างจากผู้รับการเคารพประมาณ
๓ ก้าว ให้ผู้แสดงการเคารพทำท่าทางขวา (ทางซ้าย) วันทยหัตถ์ไปยังผู้รับการเคารพ โดยแขนซ้าย
เหยียดตึงอยู่ข้างลำตัวในลักษณะมือซ้ายไม่แตะตะเข็บกางเกง สายตามองสบตาผู้รับการเคารพ
ไปจนกว่าตนเองจะเดินผ่านผู้รับการเคารพไปแล้ว ๒ ก้าว จึงเลิกแสดงความเคารพแล้วทำท่าเดินตามปกติ
ต่อไป กรณีมิได้สวมหมวก นายทหารสัญญาบัตรใช้ท่าก้มศีรษะเฉียงไปยังผู้รับการเคารพ ก่อนถึง ๓ ก้าว
นายทหารชั้นประทวนทำท่าแลขวา (แลซ้าย)
คำแนะนำทั่วไปสำหรับการแสดงความเคารพ
การแสดงความเคารพเมื่อเคลื่อนที่ในขณะที่ไม่ได้สวมหมวก หรือสวมหมวกแต่ไม่สามารถแสดง
ความเคารพด้วยท่าวันทยหัตถ์ได้ ให้ใช้การแสดงความเคารพด้วยท่าแลขวา แลซ้าย
การแสดงความเคารพเมื่อเคลื่อนที่ในขณะขับขี่ยานพาหนะ ถ้าอยู่ในสถานการณ์คับขัน เช่น
การจราจรคับคั่ง ผ่านทางแยก หรือขณะเลี้ยวเปลี่ยนทิศทาง เป็นต้น ในกรณีเช่นนี้ไม่ต้องแสดงการเคารพ
อย่างไรก็ตามถ้าอยู่ในสภาวะที่พอแสดงความเคารพได้ สมควรแสดงความเคารพแม้แต่จะเป็นช่วงระยะสั้นๆ
ก็ตาม
การแสดงความเคารพด้วยท่าก้มศีรษะ หรือคำนับให้กระทำได้เฉพาะนายทหารชั้นสัญญาบัตร
เมื่อไม่สวมหมวกเท่านั้น โดยก้มศีรษะแต่พองาม (ประมาณ ๑๕ องศา)

การฝึกบุคคลท่ามือเปล่า

ท่าพัก
ท่าพักตามปกติ
๑. คำบอก “พัก” (คำบอกรวด)
๒. การปฏิบัติ ท่านี้มีตอนเดียว แต่ให้ปฏิบัติไปตามขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ
ในขั้นแรกเมื่อได้ยินคำบอก “พัก” ให้หย่อนเข่าขวาลงเล็กน้อย โดยพยายามไม่ให้ส่วนอื่นๆ
ของร่างกายมีการไหวติงไปด้วยอย่างกระทันหัน
สำหรับในขั้นต่อไปนั้น ท่านี้อนุญาตให้เคลื่อนไหวส่วนต่างๆ ของร่างกายและเปลี่ยนเข่าพัก
ได้ตามสมควรและเท่าที่จำเป็น
ท่านี้ห้ามขยับเขยื้อนหรือเปลี่ยนที่ยืนของเท้าทั้งสองข้าง และห้ามพูดคุยกันโดยเด็ดขาด
เมื่อได้ยินคำบอก “แถว –“ ให้ยืดตัวขึ้นพร้อมกับสูดลมหายใจเข้าปอดจนเต็มที่ และจัด
ทุกส่วนของร่างกายให้อยู่ในลักษณะของท่าตรง เว้นเข่าขวายังหย่อนอยู่เล็กน้อย
เมื่อได้ยินคำบอก “ตรง” ให้กระตุกเข่าขวากลับไปอยู่ในลักษณะของท่าตรงอย่างรวดเร็วและแข็งแรง

....................................................................
หัวข้อการฝึกบุคคลท่ามือเปล่า
ท่าตรง
๑. คำบอก “แถว - ตรง” (คำบอกแบ่ง)
๒. การปฏิบัติ ท่านี้มีจังหวะเดียว
ลักษณะของท่าตรงมีดังนี้คือ จะต้องยืนให้ส้นเท้าทั้งสองชิดและอยู่ในแนวเดียวกัน
ปลายเท้าทั้งสองแยกออกไปทางข้างจนปลายเท้าห่างกันประมาณ ๑ คืบ หรือให้ความยาวของเท้าเฉียง
เป็นมุมประมาณ ๔๕ องศา เข่าทั้งสองตึงและบีบเข้าหากัน แขนทั้งสองข้างห้อยอยู่ข้างลำตัวและพลิก
ข้อศอกไปทางข้างหน้าเล็กน้อยจนไหล่ทั้งสองข้างตึงและเสมอกัน นิ้วมือทั้งห้าเหยียดตรงและให้เรียงชิด
ติดกัน ฝ่ามือแบนราบและให้เอานิ้วกลางแตะไว้ที่กึ่งกลางขาท่อนบนประมาณแนวตะเข็บกางเกง เปิด
ฝ่ามือออกทางด้านนิ้วก้อยเล็กน้อย ลำคอตั้งตรงไม่ยื่นคาง สายตามองตรงไปทางข้างหน้าในแนวระดับ
วางน้ำหนักตัวให้อยู่บนเท้าทั้งสองข้างเท่าๆ กันและนิ่ง
เมื่อได้ยินคำบอก “แถว –“ จะต้องจัดส่วนต่างๆ ของร่างกายให้ยืนอยู่ในลักษณะท่าตรง
ตามที่ได้กล่าวมาแล้ว ยกเว้นเข่าขวาหย่อนเล็กน้อย พร้อมกับสูดลมหายใจเข้าปอดให้เต็มที่ และยกอก
ให้ผึ่งผาย
เมื่อได้ยินคำบอก “ตรง” ให้กระตุกเข่าขวาเข้ามาอย่างรวดเร็วและแข็งแรงจนตึง
ในลักษณะที่ให้บีบเข่าทั้งสองเข้าหากันแล้วนิ่ง
ท่าตรงเป็นท่าพื้นฐานของทุกท่า ก่อนจะปฏิบัติท่าใดก็ตามจะต้องเริ่มต้นจากท่าตรงเสมอ และใช้เป็นท่าแสดงการเคารพได้ท่าหนึ่ง



..................................................................
ท่าพักตามระเบียบ
๑. คำบอก “ตามระเบียบ, พัก” (คำบอกเป็นคำๆ)
๒. การปฏิบัติ ท่านี้มีตอนเดียว แต่ให้ปฏิบัติไปตามลำดับขั้นตอนดังต่อไปนี้ คือ
เมื่อได้ยินคำบอก “ตามระเบียบ, พัก” ให้แยกเท้าซ้ายออกไปทางด้านซ้ายประมาณ
๓๐ ซม. หรือประมาณครึ่งก้าวอย่างแข็งแรงและผึ่งผาย โดยให้เท้าทั้งสองข้างอยู่ระดับหัวไปไหล่
ในขณะเดียวกันให้นำมือทั้งสองข้างไปจับกันไว้ทางด้านหลังในลักษณะหันหลังมือทั้งสองข้างเข้าหา
ลำตัว ใช้มือซ้ายจับมือขวาโดยให้มือขวาอยู่ทางด้านนอก วางนิ้วหัวแม่มือขวาให้ทับและจับนิ้วหัวแม่มือ
ซ้ายไว้ นิ้วมือทั้งสี่ (เว้นนิ้วหัวแม่มือ) ของมือขวาเหยียดตึงและเรียงชิดติดกัน โดยให้เฉียงลงไปทาง
เบื้องล่างทางซ้าย วางหลังมือซ้ายแตะไว้ตรงก้นกบประมาณใต้แนวเข็มขัดและแบะข้อศอกทั้งสองข้าง
ไปข้างหน้าเล็กน้อยแต่พอสบาย ลักษณะของการยืนจะต้องให้ขาทั้งสองข้างตึง น้ำหนักตัวอยู่บนเท้า
ทั้งสองข้างเท่าๆ กัน ยกอกให้สง่าผ่าเผย จัดไหล่ทั้งสองข้างให้เสมอกัน ลำคอตั้งตรง สายตามองตรง
ไปข้างหน้าในแนวระดับและนิ่ง
เมื่อได้ยินคำบอกต่อไปว่า “แถว –“ ให้กดเท้าทั้งสองข้างพร้อมที่จะตรง
เมื่อได้ยินคำบอกต่อไปว่า “ตรง” ให้ชักเท้าซ้ายกลับมาชิดกับเท้าขวาในลักษณะที่
ให้ส้นเท้าทั้งสองชิดและอยู่ในแนวเดียวกัน ปลายเท้าทั้งสองแยกออกไปทางข้างห่างกันประมาณ ๑ คืบ
พร้อมกันนั้นให้ลดมือทั้งสองข้างลงมาอยู่ในลักษณะของท่าตรงอย่างแข็งแรงแล้วนิ่ง
.....................................................
ท่าหันอยู่กับที่
ท่าขวาหัน
๑. คำบอก “ขวา – หัน” (คำบอกแบ่ง)
๒. การปฏิบัติ ท่านี้แบ่งออกเป็นสองจังหวะดังต่อไปนี้ คือ
จังหวะหนึ่ง เมื่อได้ยินคำบอก “ขวา – หัน” ให้เปิดปลายเท้าขวาให้สูงขึ้นจากพื้นเล็กน้อย
โดยพยายามกดส้นเท้าให้ตรึงอยู่กับที่ แล้วหมุนตัวไปทางขวาจนได้ ๙๐ องศา ด้วยการใช้ส้นเท้าขวา
เป็นจุดหมุน ในขณะเดียวกันนั้นให้ใช้ปลายเท้าซ้ายกดแน่นไว้กับพื้นเพื่อช่วยให้มีการทรงตัวที่ดีในระหว่าง
หมุนตัว แล้วเปิดส้นเท้าหมุนตามไปด้วย โดยพยายามกดปลายเท้าไว้ ณ ที่เดิมในลักษณะให้ขาเหยียดตึง
ในขณะที่หมุนตัวไปนั้นจะต้องพยายามรักษาทรวดทรงของลำตัว และการวางมือทั้งสองให้อยู่ในลักษณะ
ของท่าตรงตลอดเวลาด้วย เมื่อหมุนตัวไปได้ที่แล้วจะต้องอยู่ในท่ายืนที่วางน้ำหนักตัวทั้งหมดไว้บนเท้าขวา
ขาซ้ายเหยียดตึงไปทางด้านหลังทางซ้ายส้นเท้าเปิดและบิดออกไปทางด้านนอกของลำตัว
จังหวะสอง ชักเท้าซ้ายมาชิดกับเท้าขวา เพื่อยืนในลักษณะของท่าตรงอย่างรวดเร็ว
และแข็งแรง
..............................................................
Google