วันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน พ.ศ. 2552

กีฬาทหารใหม่

กีฬาเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่าง นขต.ร.1 รอ. และ
โดยมี หน่วย ร.1 รอ. ร.1 พัน.1 รอ.,ร.1 พัน.2 รอ.,ร.1พัน.3 รอ. และ ร.1 พัน.4 รอ.















วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การฝึกพลทหารกองประจำการผลัดที่ 1/52





บริเวณ ร้อย ปล.ที่ 4

กำหนดการเปิดการฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็ก

7 มิ.ย.52 ต้อนรับ และแนะนำสถานที่
วินัยทหาร


วินัยทหารเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร ในยามสงคราม ถ้าทหารมีวินัยดี การปกครอง
บังคับบัญชาเป็นระเบียบเรียบร้อย การปฏิบัติในการรบย่อมมีหวังในชัยชนะถ้าทหารไม่มีวินัย ควบคุม
กันไม่ได้ สมรรถภาพของทหารก็จะเสื่อมโทรม ไม่อาจปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดให้สำเร็จลุล่วงไป
จนอาจเป็นภัยร้ายแรงแก่ประเทศชาติได้ แม้ในยามปกติ การมีวินัยของทหารยังเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ
แสดงถึงสมรรถภาพของกองทัพเป็นที่ยกย่องแก่ประชาชนทั่วไป

ความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร


เนื่องจากทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศชาติโดยตรงและเป็นกลุ่มบุคคลที่ถืออาวุธโดย
เปิดเผย ย่อมกระทำผิดได้ง่ายกว่าบุคคลพลเรือนทั่วไป ดังนั้น การปกครองบังคับบัญชาทหารจึง
จำเป็นต้องกระทำโดยเฉียบขาด สำหรับการบังคับบัญชา หมายถึง อำนาจปกครอง , ควบคุมดูแล
และสั่งการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ โดยเรียกผู้มีอำนาจปกครองควบคุมดูแลและสั่งการนั้นว่า
“ผู้บังคับบัญชา” และเรียกผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองควบคุมดูแลและสั่งการนั้นว่า “ผู้ใต้บังคับบัญชา”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากสามารถปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ ความมี
วินัย ซึ่งหากทหารขาดวินัยหรือวินัยหย่อนยานเสียแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความแตกแยก แตกความสามัคคี
และยากที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุภารกิจ ซึ่งอาจส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อส่วนรวมได้ในที่สุด
สำหรับเครื่องมือสำคัญเครื่องมือสำคัญเบื้องต้นของผู้บังคับบัญชาในอันที่จะรักษาระเบียบวินัยของ
ทหารก็คือ กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาเพื่อใช้ในการปกครอง
บังคับบัญชา ตลอดจนให้อำนาจลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำผิดวินัยทหารโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นการ
ช่วยเสริมสร้างกองทัพให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพเข้มแข็ง

ที่มาของกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร

การปกครองของไทยในสมัยโบราณนับตั้งแต่กรุงสุโขทัย ยึดถือนโยบายการป้องกัน
ประเทศเป็นหลัก ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร การปกครองทั่วไปใช้วิธีปกครองอย่างทหาร
ดังนั้น วินัยกับทหารจึงเป็นสิ่งที่คู่กันมาตลอดมา แต่ระเบียบกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับต่าง ๆ ยังมิได้
ตราขึ้นเป็นกฎหมาย คงยึดถือประเพณีหรือแบบธรรมเนียมที่ทหารต้องประพฤติปฏิบัติตาม ครั้น
ในสมัยต่อ ๆ มา แม้การศึกสงครามจะห่างลง ทำให้การปกครองอย่างทหารผ่อนคลายลงไป แต่
ก็ยังคงถือเป็นหลักการอยู่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์กับกำลังทหารมีความเกี่ยวข้อง
ผูกพันกันเป็นอย่างมาก ซึ่งจะพบว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร
และการออกสงคราม เช่น พระอัยการอาญาหลวง บัญญัติในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง
พ.ศ.๑๘๙๕ พระอัยการกบฏศึก บัญญัติในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พ.ศ.๒๐๐๑
เป็นต้น

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรา
พระราชบัญญัติและประกาศต่าง ๆ เล่ม ๓ ออกใช้บังคับ ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้มีประกาศพระราช
กำหนดกฎหมายทหาร โดยพระยาบุรุศรัตนพัลลภจางวาง ผู้กำกับทหารบกทุกหมู่ ให้ใช้บังคับตั้งแต่
วันอังคาร เดือน ๗ ขึ้นค่ำหนึ่ง จ.ศ.๑๒๒๕ (พ.ศ.๒๔๐๖) สำหรับใช้บังคับแก่ทหารที่มียศต่าง ๆ
ตั้งแต่ ครู นายแถวและทหารเลว รวม ๑๓ ข้อ เพื่อยึดถือปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการลา การเตรียมตัว
เมื่อถึงเวลาฝึกหัด การระวังรักษาดูแลเครื่องแต่งกาย การจัดยามประจำหน้าที่ การลงโทษทหาร
ที่เกียจคร้านการฝึก การลงโทษทหารที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การลงโทษทหารที่
นินทาด่าผู้บังคับบัญชาทั้งต่อหน้าแลลับหลัง แบบธรรมเนียมในการแสดงความเคารพต่อผู้บังคับ
บัญชาและผู้ใหญ่นับได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารและแบบธรรมเนียมต่าง ๆ
สำหรับให้ทหารผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชายึดถือปฏิบัติในสมัยนั้น

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวินัยทหารขึ้นสองฉบับ คือ กฎหว่าด้วยอำนาจลงอาญาทหารเรือ ลงวันที่ ๒๑
มีนาคม ๒๔๕๔ สำหรับใช้บังคับทหารเรือ และกฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐาน
ละเมิดยุทธวินัย ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๕๘ สำหรับใช้บังคับทหารบก จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๔
กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่เหมาะสมแก่กาลสมัยและยังไม่มีความชัดเจนพอ กล่าวคือ ไม่มีบท
นิยามศัพท์ให้แน่ชัดว่าวินัยทหารคืออะไร อีกทั้งเมื่อได้ให้อำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาแล้ว ก็สมควรมี
หนทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถร้องทุกข์ได้ ในกรณีที่ถูกผู้บังคับบัญชากดขี่โดยอยุติธรรมนั้นได้
ด้วย ดังนั้นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเสนาบดีกระทรวงทหารเรือในขณะนั้น จึงได้นำความ
กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกกฎใหม่ และได้รับพระราชทาน
พระบรมราชาอนุญาตให้ตรากฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย ลง
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๕ ขึ้นใช้บังคับและให้ยกเลิกกฎหมายเดิมทั้งสองฉบับนั้นเสีย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร
พุทธศักราช ๒๔๗๖ ขึ้นโดยคำแนะนำและความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากขณะนั้น
ทั้งทหารบกและทหารเรือ ได้รวมเป็นกระทรวงเดียวกัน จึงสมควรให้กฎหมายฉบับเดียวกันบังคับ
แก่ทหารทั้งหมด กับให้ยกเลิกกฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย
และยกเลิกกฎเสนาบดีว่าด้วยอำนาจลงอาญาทหารเรือ โดยให้พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร
พุทธศักราช ๒๔๗๖ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๗๖ ตลอดจนถึงปัจจุบันนี้



ความเกี่ยวพันระหว่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกับ
กฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือ
ข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ [1] นอกจากนี้ในเรื่องสิทธิ
และเสรีภาพของชนชาวไทย รัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับ
ความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน [2] อันเป็นการรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของ
ประชาชนคนไทย เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ แต่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว บุคคลที่
เข้ารับราชการซึ่งรวมถึงข้าราชการทหารด้วย บุคคลเหล่านี้นอกจากจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย
ทั่วไปแล้ว ยังต้องอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายเฉพาะต่างหากจากประชาชนทั่วไป เช่น ทหารต้องตกอยู่
ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารเป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง รัฐธรรมนูญทุกฉบับทั้งฉบับปัจจุบัน
จึงได้บัญญัติรองรับในเรื่องนี้ไว้ใน มาตรา ๖๔ ว่า “บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ และข้าราชการอื่นของ
รัฐ ฯลฯ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย
กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง
สมรรถภาพ วินัยหรือจรรยาบรรณ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องวินัยสำหรับทหาร
เพราะวินัยทหารเป็นรากฐานสำคัญ และเป็นมาตรการจำเป็นที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติ
ราชการเป็นส่วนรวมนั้นเอง

ความหมายของคำว่า “วินัยทหาร” และ “แบบธรรมเนียมทหาร”

“วินัยทหาร” คือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมทหาร (มาตรา ๔)

“แบบธรรมเนียมทหาร” ได้แก่ บรรดา กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง คำแนะนำ
คำชี้แจงและสรรพหนังสือต่าง ๆ ที่ผู้บังคับบัญชาได้ออกหรือได้วางไว้เป็นหลักฐานให้ทหารปฏิบัติ ซึ่ง
รวมทั้งขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีของทหารทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ตัวอย่างของการกระทำผิดวินัยทหาร (มาตรา ๕)

วินัยทหารเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้น ทหารทุกคนจักต้องรักษา
โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืน ท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด

ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร มีดังต่อไปนี้

๑. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน

๒. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย

๓. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร

๔. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร

๕. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ

๖. กล่าวคำเท็จ

๗. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร

๘. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ

๙. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

ผู้ที่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร

จากบทนิยามศัพท์ของคำว่าวินัยทหาร คือการที่ทหารต้องประพฤติตามแบบ
ธรรมเนียมทหาร โดยมิได้มีคำจำกัดความของคำว่าทหาร นั้น หมายถึงทหารประเภทใดบ้าง
เนื่องจากทหารมีหลายประเภท โดยพิจารณาจาก พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗ ซึ่งแบ่ง
ทหารออกเป็น ๔ ประเภท คือ

ก. ทหารกองประจำการ (คือ ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการ
ในกองประจำการจนกว่าจะปลด)

ข. ทหารประจำการ (คือ ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดซึ่งมิใช่
ทหารกองประจำการ)

ค. ทหารกองเกิน (คือ ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึง ๓๐ ปีบริบูรณ์
ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรา ๑๖ หรือ ผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรา ๑๘ แล้ว)

ง. ทหารกองหนุน ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑) ทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ (คือ ทหารที่ปลดกองประจำการโดยรับราชการ
ในกองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการ
ส่งเสริมการฝึกวิชาทหารและได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุน ตาม พ.ร.บ.รับ
ราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗)

๒) ทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ (คือ ทหารที่ปลดออกจากกองเกิน ตามมาตรา
๓๙ หรือปลดจากกองประจำการ ตามมาตรา ๔๐)

เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของทหารทั้ง ๔ ประเภท จะเห็นได้ว่า ทหารที่ต้องอยู่ในบังคับ
แห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารตลอดเวลาที่รับราชการก็คือ ทหารกองประจำการ และทหารประจำการ
ส่วนทหารกองเกินและทหารกองหนุนนั้น เป็นทหารที่มิได้รับราชการทหารและมิได้อยู่ประจำหน่วย
ทหาร จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ยกเว้นในกรณีที่ทหารกองเกินและทหาร
กองหนุนถูกเรียกเข้ารับราชการ ตาม มาตรา ๓๖ กล่าวคือเมื่อถูกเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชา
ทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมและในการระดมพลต้องตกอยู่ในวินัยทหารเหมือนทหารกอง
ประจำการ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ถูกเรียกเข้ารับราชการกรณีดังกล่าว ทั้งทหารกองเกินและทหาร
กองหนุนต้องตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร เช่นเดียวกับทหารกองประจำการใน
ฐานะเป็นผู้รับทัณฑ์

สำหรับบุคคลที่มิใช่ทหาร แต่ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งวินัยทหาร เพราะมีบทบัญญัติ
ไว้ในตารางเทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ ท้าย มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.วินัยทหารฯ ในฐานะ
เป็นผู้รับทัณฑ์ ได้แก่

๑. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร
(นักเรียนนายร้อย, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนนายเรืออากาศ)

๒. บุคคลผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารโดยคำสั่ง รมว.กห. ตามกฎหมาย
ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๑๐
บัญญัติว่านิสิตหรือนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกวิชาทหาร ตามหลักสูตรที่ กห.กำหนด ในระหว่างที่
เข้ารับการฝึกวิชาทหารให้ถือว่าเป็นทหารกองประจำการ)

๓. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารประทวน (นักเรียน
นายสิบ , นักเรียนจ่า , นักเรียนจ่าอากาศ)



ผู้บังคับบัญชา และผู้ใหญ่เหนือตน

ก. ความหมายของคำว่า “ผู้บังคับบัญชา”

“ผู้บังคับบัญชา” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลทุกข์สุขของ
ทหาร ทั้งรับผิดชอบในความประพฤติ การฝึกสอน อบรม การลงทัณฑ์ ตลอดจนสั่งการแก่ผู้ใต้
บังคับบัญชา และให้ความดีความชอบแก่ทหารได้

ผู้บังคับบัญชาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑) ผู้บังคับบัญชาโดยตรง มีอยู่คนเดียว คือ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด
สำหรับดูแลสุขทุกข์ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพลทหารในหมู่หนึ่ง ๆ ก็ คือ
ผบ.หมู่นั้น ๆ ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ ผบ.หมู่ คือ ผบ.หมวด และผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ
ผบ.หมวด คือ ผบ.ร้อย เป็นต้น

๒) ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น หมายถึง ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่อันดับสูงถัดขึ้น
ไปจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง เช่น ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของพลทหารในหมู่หนึ่ง ๆ ได้แก่
ผบ.หมวด, ผบ.ร้อย, ผบ.พัน, ผบ.กรม, ผบ.พล, แม่ทัพ และ รมว.กห. ซึ่งเป็นการเรียงลำดับจากต่ำ
ไปหาสูงตามตำแหน่งที่ปรากฏในตารางกำหนดชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ท้ายมาตรา ๑๐ ส่วน
หน่วยทหารที่มีการจัดหน่วยและเรียกตำแหน่งไม่ตรงตามตำแหน่งดังกล่าว ให้พิจารณาจากอัตรา
การจัดของหน่วยและสายการบังคับบัญชาของหน่วยนั้น ๆ เป็นหลักในการจัดลำดับชั้นของผู้บังคับ
บัญชา

ข. ความหมายของคำว่า “ผู้ใหญ่เหนือตน”

“ผู้ใหญ่เหนือตน” หมายความว่า ผู้ที่มียศสูงกว่าหรือมีตำแหน่งสูงกว่าแต่ไม่มี
อำนาจบังคับบัญชา เพียงแต่มีสิทธิในการว่ากล่าวตักเตือนผู้น้อยในทางที่ชอบ ผู้ใหญ่เหนือตน
ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในสังกัดเดียวกัน แต่มิใช่ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่อยู่ในสังกัดเดียวกันแต่ต่างสายการ
บังคับบัญชา หรือผู้ที่อยู่ต่างสังกัด ต่างเหล่าทัพ เป็นต้น

ข้อสังเกต

สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งรอง หรือ ผู้ช่วยของหัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยใด ๆ นั้น
มักมีผู้เข้าใจไขว้เขวอยู่เสมอว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงบ้าง เป็นผู้บังคับ
บัญชาตามลำดับชั้นบ้าง ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะผู้ดำรงตำแหน่งรอง หรือผู้ช่วย มีหน้าที่
ช่วยเหลือการบริหารงานของหัวหน้าส่วนราชการ หรือ ผบ.หน่วย นั้น ๆ เท่านั้น

ทัณฑ์ทางวินัย มี ๕ สถาน (มาตรา ๘)

ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหาร ให้มีกำหนดเป็น ๕ สถาน โดยเรียงจากเบา
ไปหาหนัก คือ

ก. ภาคทัณฑ์

ข. ทัณฑกรรม

ค. กัก

ง. ขัง

จ. จำขัง

ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใด
ดังกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปรานี จึงเป็นแค่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำ
ทัณฑ์บนไว้ (สำหรับ “เหตุอันควรปรานี” ควรใช้เหตุที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๕๖ เป็นแนวทางประกอบดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา)

ทัณฑกรรม คือการให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตน
จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ (โดยมีหลักเกณฑ์ในคำอธิบาย
ท้ายตารางกำหนดทัณฑ์ว่า ทัณฑกรรมที่กำหนดไว้เป็นวัน ๆ หมายความว่า ทำทัณฑกรรมทุก ๆ วัน
จนกว่าจะครบกำหนดในวันหนึ่งนั้น ผู้ที่จะสั่งลงทัณฑ์จะกำหนดทัณฑกรรมได้ไม่เกินกว่าวันละ ๖
ชั่วโมง แต่ถ้าให้อยู่เวรยามในวันหนึ่งไม่เกินกำหนดเวลาอยู่เวรยามตามปกติ ผู้ใดจะสั่งลงทัณฑกรรม
ให้กำหนดให้ชัดเจนว่า ทัณฑกรรมกี่วันและวันละเท่าใด สำหรับผู้กระทำผิดวินัยและเป็นผู้รับทัณฑ์
สถานนี้ได้ คือ ผู้รับทัณฑ์ ชั้น ซ, ฌ ได้แก่ นักเรียนทหารและพลทหาร)

กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้

ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่จะได้มีคำสั่ง

จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร

ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ทางวินัย (มาตรา ๑๐)

ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดทางวินัยมี ๒ ประเภท คือ

ก. ผู้บังคับบัญชา (โดยตรงและตามลำดับชั้น) หรือ

ข. ผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้บังคับบัญชาตามที่ กห. ส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อ กห.,
ทบ., ทร., หรือ ทอ. กำหนด

หลักสำคัญก็คือ ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาเสียก่อน
เป็นเบื้องแรก ในกรณีที่ผู้สั่งลงทัณฑ์คือ ผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงหรือ
ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มักไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะเป็นการสั่งโดยผู้มีอำนาจตาม
กฎหมายในการบังคับบัญชา

ส่วนผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจบังคับบัญชา นั้น โดยปกติจะมิใช่ผู้บังคับบัญชา ดังนั้น
การมอบอำนาจแก่ผู้ซึ่งมิใช่ผู้บังคับบัญชาให้มีอำนาจเสมือนเป็นผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจลงทัณฑ์
ได้นั้น จะต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เพราะหากการมอบอำนาจไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบ
ด้วยกฎหมายเสียแล้วก็เท่ากับมิได้มีการมอบอำนาจ การกระทำการใด ๆ หรือการสั่งการย่อมเป็นการ
กระทำที่ปราศจากอำนาจและไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย สำหรับการมอบอำนาจที่เป็นไปตาม
หลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด แยกพิจารณาได้ ดังนี้

ก. การมอบอำนาจตามที่ กห.กำหนด ได้แก่

๑) ข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการสั่งการและประชาสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ (ผนวก ก.) เป็น
ข้อบังคับที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจ ๓ กรณี คือ กรณีตำแหน่งว่างลงโดยยังไม่มีการ
แต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งให้แต่งตั้งผู้รักษาราชการชั่วคราว, กรณีผู้ดำรงตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติ
หน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนชั่วคราวและกรณีตำแหน่งว่างลงหรือผู้ดำรง
ตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราวแล้วยังมิได้แต่งตั่งข้าราชการผู้ใดรักษาราชการหรือ
รักษาราชการแทน ให้ รอง, ผู้ช่วย หรือ เสนาธิการ ทำการแทน เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ ผู้รับมอบอำนาจ
ดังกล่าวย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งที่ตนรักษาราชการ รักษาราชการแทน หรือทำการแทนนั้น ๆ
ซึ่งหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อบังคับ กห. ฉบับนี้เป็นหลักเกณฑ์โดยทั่ว ๆ ไป สำหรับทุกหน่วยงานใน
กห.ที่ต้องยึดถือปฏิบัติ

๒) ข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการศึกษาในต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นข้อบังคับซึ่ง
กำหนดหลักเกณฑ์ในการปกครองบังคับบัญชาระหว่างศึกษาในต่างประเทศ กล่าวคือ ข้าราชการ
ทหารที่ไปศึกษาในต่างประเทศ ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งต้องอยู่ในระเบียบวินัย และ
ปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมทหารทุกประการ และให้อยู่ในความปกครองบังคับบัญชาของผู้ช่วยทูต
ฝ่ายทหารประจำประเทศนั้น หรือผู้ที่ กห.มอบอำนาจให้ปกครองบังคับบัญชาตั้งแต่วันรายงานตัว
เมื่อเดินทางไปถึงจนกระทั่งเดินทางกลับ

๓) ระเบียบ กห.ว่าด้วยโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งมี
หลักเกณฑ์คือ โรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ (รร.ธน.) มีผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทหาร
พระธรรมนูญ (ผบ.รร.ธน.) เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ โดยเจ้ากรมพระธรรมนูญ (จก.ธน.) เป็น
ผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญโดยตำแหน่ง สำหรับผู้ที่เข้าศึกษาอบรมใน รร.ธน.
ในระหว่างการศึกษาอบรม ผู้เข้าศึกษาอบรมคงอยู่ในสังกัดเดิม แต่ให้อยู่ในปกครองบังคับบัญชา
ของ ผบ.รร.ธน.

ข. การมอบอำนาจตามที่กองทัพบกกำหนด คือ การมอบอำนาจตามระเบียบ ทบ.
ว่าด้วยการมอบอำนาจบังคับบัญชา พ.ศ.๒๕๑๓ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจโดยสรุปดังนี้

๑) การมอบอำนาจบังคับบัญชา กระทำได้ ๓ วิธี คือ กระทำด้วยหนังสือ กระทำ
ด้วยวาจา หรือกระทำด้วยเครื่องมือสื่อสาร

๒) กรณีที่มอบอำนาจบังคับบัญชา มีดังนี้

ก) ไปปฏิบัติราชการ

ข) ไปร่วมปฏิบัติราชการ

ค) ไปช่วยราชการ

ง) ไปศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ

จ) ไปฝึกอบรมในสถานฝึกอบรมของทหาร

ฉ) ไปป่วยในโรงพยาบาลทหาร

ช) ไปพักในสถานพักฟื้นของทหาร

ซ) กรณีอื่น ๆ

๓) การมอบอำนาจบังคับบัญชาบุคคล หรือส่วนราชการใดที่สังกัด ทบ. ให้แก่
บุคคล หรือส่วนราชการนอก ทบ. จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

๔) ผู้รับมอบอำนาจบังคับบัญชา มีอำนาจสั่งการตามข้อบังคับ กห. ว่าด้วยการ
สั่งการและประชาสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗

๕) การมอบอำนาจบังคับบัญชา ให้ผู้มอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจ
สั่งการเกี่ยวกับความชอบ การลงทัณฑ์ การลา หรือเรื่องอื่น ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร

๖) การมอบอำนาจบังคับบัญชา ให้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งการ
มอบอำนาจไว้ด้วย

ค. การมอบอำนาจตามที่กองทัพเรือกำหนด คือ การมอบอำนาจตามคำสั่ง ทร.
ที่ ๓๑๑/๒๕๑๓ เรื่อง มอบอำนาจบังคับบัญชา ลง ๒๙ ต.ค.๑๓ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการมอบ
อำนาจโดยสรุปดังนี้

๑) บุคคลที่ผู้บังคับบัญชาที่เป็น หน.ส่วนราชการขึ้นตรง ทร.ขึ้นไป สั่งให้ไปช่วย
ปฏิบัติราชการ รับการฝึก หรือศึกษาอบรมในส่วนราชการอื่นใน ทร. ให้ผู้นั้นอยู่ในบังคับบัญชาของ
ผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่ตนไปช่วยปฏิบัติราชการ รับการฝึก หรือศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ไป
ช่วยปฏิบัติราชการ รับการฝึก หรือศึกษาอบรม

๒) สำหรับบุคคลที่ถูกสั่งให้ไปช่วยปฏิบัติราชการต่างส่วนราชการขึ้นตรง ทร. หาก
มีความจำเป็นทางราชการ หน.ส่วนราชการขึ้นตรง ทร. ที่ผู้นั้นไปช่วยปฏิบัติราชการจะสั่งให้ผู้นั้นไป
ขึ้นอำนาจบังคับัญชาของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งชั้นรองของตน ซึ่งมียศอาวุโสสูงกว่าผู้ที่ไปช่วยปฏิบัติ
ราชการนั้นก็ได้

๓) อำนาจการบังคับบัญชา ตาม ก. และ ข. หมายถึง อำนาจสั่งการในเรื่องเกี่ยวกับ
หน้าที่ราชการที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยปฏิบัติราชการ รับการฝึก หรือศึกษาอบรมตลอดจนอำนาจใน
การลงทัณฑ์ การอนุญาตลากิจ และลาป่วย

ง. การมอบอำนาจตามที่กองทัพอากาศกำหนด คือ การมอบอำนาจตามระเบียบ
ทอ. ว่าด้วยการปกครองบังคับบัญชา พ.ศ.๒๕๒๖ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจโดยสรุปดังนี้

๑) “การปกครองบังคับบัญชา” หมายถึง การที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจในการ
ปกครองดูและหน่วยทหาร และหรือกำลังพลที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนภายในขอบเขตของ
กฎหมายและแบบธรรมเนียมที่กำหนดไว้ รวมทั้งอำนาจในการสั่งลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยด้วย

๒) หน่วยแยกหรือหน่วยสมทบที่ไปอยู่ในเขตพื้นที่ของหน่วยขึ้นตรง ทอ. หรือ
หน่วยแยกที่ตั้ง ณ ต่างจังหวัด ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของหน่วยขึ้นตรง ทอ. หรือหน่วยแยกที่เป็น
เจ้าของเขตพื้นที่นั้น

๓) กำลังพลที่ไปปฏิบัติราชการหรือช่วยราชการในหน่วยขึ้นตรง ทอ. หรือหน่วยแยก
ให้อยู่ในปกครองบังคับบัญชาของหน่วยนั้น

๔) กำลังพลที่เข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาของ ทอ. ให้อยู่ในการปกครองบังคับ
บัญชาของสถานศึกษานั้น

๕) หน่วยขึ้นตรง ทอ.หรือหน่วยแยก หรือสถานศึกษาที่มีอำนาจปกครองบังคับบัญชา
หากสั่งการในด้านการปกครองเกี่ยวกับการลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยแก่กำลังพลที่ไปปฏิบัติราชการ
หรือช่วยราชการ หรือเข้ารับการศึกษา ต้องแจ้งให้ต้นสังกัดผู้ต้องรับโทษหรือรับทัณฑ์นั้นทราบเป็น
ลายลักษณ์อักษร

ข้อสังเกต

แม้ว่าแต่ละหน่วยจะมีหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจแตกต่างกันไปบ้างก็เป็นเพียง
การแตกต่างในรายละเอียดเท่านั้น ส่วนในหลักการและความมุ่งหมายคงเป็นไปในแนวเดียวกัน คือ
เพื่อให้การมอบอำนาจบังคับบัญชาเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและเพื่อให้ผู้ได้รับมอบอำนาจ
สามารถใช้อำนาจบังคับบัญชาได้เช่นเดียวกับผู้บังคับบัญชานั่นเอง

เกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์

การที่ผู้บังคับบัญชาชั้นใด จะมีอำนาจลงทัณฑ์ชั้นใด และผู้อยู่ในบังคับบัญชาชั้นใด
จะเป็นผู้รับทัณฑ์ชั้นใดนั้น ต้องถือตามที่กำหนดไว้ในตารางเทียบชั้นตาม มาตรา ๑๐ วรรคท้าย ดังนี้

ตารางเกณฑ์เทียบผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์

ตำแหน่งชั้น
เป็นผู้ลงทัณฑ์ชั้น
เป็นผู้รับทัณฑ์ชั้น

๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

-

๒. แม่ทัพ

-

๓. ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกองเรือ ผู้บัญชาการกองพลบิน

-

๔. ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับหมวดเรือ ผู้บังคับกองบิน



๕. ผู้บังคับหมู่เรือชั้น ๑



๖. ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับหมู่เรือชั้น ๒ ผู้บังคับการเรือชั้น ๑ ผู้บังคับฝูงบิน



๗. ผู้บังคับหมู่เรือชั้น ๓ ผู้บังคับการเรือชั้น ๒ ต้นเรือชั้น ๑ ผู้บังคับหมวดบินชั้น ๑



๘. ผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับการเรือชั้น ๓ ต้นเรือชั้น ๒ นายกราบเรือ ผู้บังคับหมวดบินชั้น ๒



๙. ผู้บังคับหมวด ต้นเรือชั้น ๓ ผู้บังคับหมวดบินชั้น ๓



๑๐. ผู้บังคับหมู่ นายตอน
-


๑๑. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร / บุคคลผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารโดยคำสั่ง รมว.กห.ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
-


๑๒. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารประทวน ลูกแถว
-



เพื่อสะดวกแก่การพิจารณา ขอแยกเกณฑ์การเทียบชั้นตามตารางดังกล่าวให้ชัดเจน
โดยแยกให้เห็นว่า ผู้ลงทัณฑ์ ได้แก่ ผู้ดำรงในตำแหน่งใดและสามารถลงทัณฑ์ในชั้นใด ส่วนผู้รับ
ทัณฑ์ ได้แก่ผู้ดำรงในตำแหน่งใด และจะต้องรับทัณฑ์ในชั้นใด กล่าวคือ

ผลจากการกำหนดชั้นของผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ (กำหนดเป็นตัวเลข) และการกำหนด
ชั้นผู้รับทัณฑ์ (กำหนดเป็นตัวอักษร) ตามตารางดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจสั่งลงทัณฑ์ทหาร
ได้นั้น คือ ผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับ รมว.กห. ลงมาจนถึง ผบ.หมวด (ลำดับ ๑-๙) เท่านั้น ส่วน
ลำดับ ๑๐ คือ ผบ.หมู่ แม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารระดับหมู่ ก็ไม่อำนาจสั่งลงทัณฑ์
เพราะกฎหมายมิได้ระบุให้อำนาจไว้ ส่วนผู้ต้องรับทัณฑ์ทางวินัย กฎหมายระบุให้เป็นผู้รับทัณฑ์
ได้คือ ผู้มีตำแหน่งตั้งแต่ ผบ.กรม ลงมาจนถึงลูกแถว (ชั้น ก. – ชั้น ฌ.) เท่านั้น จึงไม่อาจลงทัณฑ์
ทางวินัยแก่ผู้มีตำแหน่งตั้งแต่ ผบ.พล ขึ้นไปได้ เพราะกฎหมายมิได้ระบุให้เป็นผู้รับทัณฑ์

สำหรับตารางเกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ จะต้องใช้ประกอบกับตาราง
กำหนดทัณฑ์ ซึ่งอยู่ท้ายกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ เพราะว่าการที่ผู้บังคับบัญชาชั้นใด มีอำนาจสั่งลง
ทัณฑ์แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยใช้ทัณฑ์สถานใดและมีกำหนดเท่าใดนั้น จะต้องเป็นไปตามตาราง
กำหนดทัณฑ์ระบุไว้เท่านั้น ดังนั้น ในการลงทัณฑ์ทางวินัยจะต้องใช้ตารางเกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์
และผู้รับทัณฑ์ท้าย มาตรา ๑๐ ประกอบกับตารางกำหนดทัณฑ์ท้ายกฎหมายฉบับนี้เสมอ

การเทียบตำแหน่งผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ (มาตรา ๑๑)

ในการลงทัณฑ์ทางวินัยนั้น ถ้าผู้สั่งลงทัณฑ์หรือผู้ต้องรับทัณฑ์นั้นมีตำแหน่งตรง
ตามที่กำหนดไว้ในตารางเทียบชั้นตามที่ปรากฏใน มาตรา ๑๐ วรรคท้ายแล้ว ย่อมไม่มีปัญหา
ในทางปฏิบัติ เพียงแต่ตรวจสอบตำแหน่งของผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ว่าตรงตามตำแหน่งใด
ก็สามารถดำเนินการได้ตามตารางกำหนดทัณฑ์ ในส่วนที่มีปัญหาก็คือ กรณีที่ผู้สั่งลงทัณฑ์หรือ
ผู้รับทัณฑ์มีตำแหน่งไม่ตรงตามตารางดังกล่าว เนื่องจากมีการจัดหน่วยที่แตกต่างกัน ในกรณี
เช่นนี้ ให้ถือตามที่ได้เทียบตำแหน่งไว้ในข้อบังคับ กห.ว่าด้วยตำแหน่ง และการเทียบตำแหน่ง
บังคับบัญชาข้าราชการกลาโหม พ.ศ.๒๕๐๑ (ผนวก ข.)

ข้อพึงระลึกในการลงทัณฑ์

การลงทัณฑ์ทางวินัยเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายและเป็นไปในทางให้โทษแต่
ผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น ก่อนจะลงทัณฑ์ผู้ใด ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนแน่นอน
ว่าผู้รับทัณฑ์มีความผิดจริง โดยจะต้องชี้แจงให้ผู้กระทำผิดทราบด้วยว่าได้กระทำผิดในข้อใด
เพราะเหตุใด แล้วจึงสั่งลงทัณฑ์ ทั้งนี้ ต้องระวังอย่าให้ลงทัณฑ์โดยโทสะจริตหรือลงทัณฑ์แก่
ผู้ไม่มีความผิดโดยชัดเจนเป็นอันขาด (มาตรา ๑๓)

สำหรับทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิด ต้องเป็นทัณฑ์สถานใดสถานหนึ่งในทัณฑ์ ๕
สถานเท่านั้น ห้ามมิให้คิดทัณฑ์ขึ้นใหม่หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมาย
กำหนด (มาตรา ๙ วรรคท้าย)

ในการสั่งลงทัณฑ์แต่ละสถานนั้น ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาแต่ละชั้นมีอำนาจใ
การสั่งลงทัณฑ์แต่ละสถาน เช่น กัก ขัง หรือจำขัง มีกำหนดลดหลั่นกันไป โดยยึดถือตำแหน่ง
ของผู้รับทัณฑ์มาประกอบ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามตารางกำหนดทัณฑ์ท้ายกฎหมายนี้ (มาตรา ๑๐
วรรคสอง) อีกทั้งยังต้องยึดถือตารางเกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ท้ายมาตรา ๑๐
เป็นหลักพิจารณาว่าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาในตำแหน่งใดที่เป็นผู้ลงทัณฑ์ชั้นใดบ้าง และผู้อยู่ใน
บังคับบัญชาตำแหน่งใดสามารถเป็นผู้รับทัณฑ์ชั้นใดบ้าง (มาตรา ๑๐ วรรคสาม) ซึ่งเท่ากับเป็น
การบังคับว่าผู้บังคับบัญชาแต่ละลำดับชั้นมีอำนาจสั่งลงทัณฑ์ได้เฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้
อันเป็นการจำกัดทั้งกำหนดเวลาในการลงทัณฑ์และจำกัดทั้งวิธีการในการลงทัณฑ์ไว้โดยชัดเจน
ว่าจะต้องอยู่ในอำนาจของตนเท่านั้น

การลงทัณฑ์เหนืออำนาจ

การที่ผู้บังคับบัญชาชั้นใดมีอำนาจลงทัณฑ์ได้เท่าใด ย่อมเป็นไปตามเกณฑ์ตาราง
กำหนดทัณฑ์ท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร ในการสั่งลงทัณฑ์แต่ละครั้ง ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์จะ
สั่งลงทัณฑ์เต็มที่ตามอำนาจที่มีสถานใดสถานหนึ่งเพียงสถานเดียวเท่านั้น (มาตรา ๑๒) แสดง
ให้เห็นว่า การสั่งลงทัณฑ์แต่ละสถานของผู้บังคับบัญชาแต่ละลำดับชั้นนั้น ต้องเป็นไปตามที่
กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งหากผู้กระทำผิดสมควรได้รับทัณฑ์เหนืออำนาจเกินกว่าที่ตนจะสั่งลงทัณฑ์
ได้ ก็จะต้องรายงานชี้แจงความผิดนั้นรวมทั้งให้ความเห็นด้วยว่า ควรลงทัณฑ์เพียงใด แล้วเสนอ
รายงานตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ได้พอแก่ความผิด เพื่อขอให้ผู้บังคับบัญชาลำดับ
สูงกว่าเป็นผู้ลงทัณฑ์ให้ (มาตรา ๑๕)

แต่มีบางกรณี กฎหมายให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการสั่งลงทัณฑ์ได้เหนืออำนาจ
ที่ปรากฏตามตารางกำหนดทัณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้นหลักทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๕
ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

ก. กรณีเป็นความผิดซึ่งมีวิธีวางอัตรากำหนดทัณฑ์ไว้โดยแน่นอนแล้ว เช่น ความผิด
ฐานหนีราชการ กฎหมายบัญญัติว่า ถึงแม้กำหนดทัณฑ์จะเหนืออำนาจของผู้บังคับบัญชาจะสั่ง
ลงทัณฑ์ได้ ก็ให้นำเสนอเพียงผู้บังคับบัญชา นั้น ผบ.กรม หรือ ผบ.พัน ที่อยู่ต่างท้องถิ่นกับ ผบ.กรม
เป็นผู้สั่งลงทัณฑ์ แม้ว่ากำหนดทัณฑ์ที่เสนอให้สั่งลงทัณฑ์นั้นจะเหนืออำนาจที่ตารางกำหนดทัณฑ์
ระบุไว้ใน มาตรา ๑๕ ก็ให้ผู้บังคับบัญชาระดับดังกล่าวมีอำนาจลงทัณฑ์ได้โดยไม่ต้องนำเสนอผู้บังคับ
บัญชาตามลำดับชั้นต่อไปอีก สำหรับความผิดที่มีวิธีวางอัตรากำหนดทัณฑ์ไว้โดยแน่นอนในปัจจุบัน
มีเพียงกรณีเดียวคือ ข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการลงทัณฑ์ทหารขาดหนีราชการ พ.ศ.๒๕๒๘ (ผนวก ค.)
ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในทางปฏิบัติให้ใช้เฉพาะทหารกองประจำการซึ่งขาดหรือหนีราชการ เช่น การนับครั้ง
ของการขาดหรือหนีราชการ การลงทัณฑ์ต่อทหารซึ่งขาดหรือหนีราชการในเวลาปกติและในเวลาไม่
ปกติ รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ไม่อาจลงทัณฑ์ทางวินัยได้โดยต้องส่งตัวผู้กระทำผิดฟ้องศาล
เป็นต้น

ข. กรณีที่นายทหารที่เป็นหัวหน้าทำการควบคุมทหารไปโดยลำพัง นายทหารผู้นั้น
มีอำนาจที่จะสั่งลงทัณฑ์ผู้อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาในระหว่างที่ควบคุมนั้น ได้เท่ากับผู้มีอำนาจ
ลงทัณฑ์เหนือตำแหน่งของตนขึ้นไปได้อีก ๑ ชั้น (มาตรา ๑๗) เช่น ผบ.มว. เป็นผู้ควบคุมทหาร
ไปโดยลำพัง ก็มีอำนาจสั่งลงทัณฑ์ได้เท่ากับอำนาจของ ผบ.ร้อย ซึ่งเป็นอำนาจที่เหนือกว่า
ผบ.มว. ๑ ชั้น แต่มีข้อยกเว้นคือ ในกรณีเป็นนายทหารซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ ชั้น ๒ ขึ้นไป
กฎหมายบัญญัติว่าไม่ต้องเพิ่ม เพราะนายทหารระดับสูงเช่นนี้อำนาจที่มีอยู่ก็ถือว่ามากอยู่แล้ว

ระยะเวลาในการลงทัณฑ์

ในเรื่องกำหนดระยะเวลาในการลงทัณฑ์ทางวินัย กฎหมายบัญญัติว่า นับตั้งแต่
วันที่ปรากฏหลักฐานแห่งความผิดของผู้กระทำผิดซึ่งจะต้องรับทัณฑ์โดยแน่นอนแล้ว ถ้าผู้มี
อำนาจลงทัณฑ์มิได้จัดการที่จะให้ผู้นั้นได้รับทัณฑ์ภายในกำหนด ๓ เดือน เป็นอันนับว่าล่วงเลย
เวลาที่จะลงทัณฑ์และจะสั่งลงทัณฑ์โดยอำนาจของตนเองมิได้ เว้นแต่ผู้ที่กระทำผิดนั้นขาดหนี
ราชการไปก่อนครบกำหนด ๓ เดือน จึงมิให้นับวันที่ขาดหนีนี้เข้าในกำหนดเวลาล่วงเลย โดยให้
นับตั้งแต่วันที่ได้ผู้นั้นกลับมายังหน่วยต้นสังกัด (มาตรา ๑๙)

ข้อสังเกต

๑) ระยะเวลา ๓ เดือน ให้นับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่งลงทัณฑ์อย่างชัดแจ้งโดยผู้มี
อำนาจลงทัณฑ์

๒) คำว่า “ปรากฏหลักฐานแห่งความผิดโดยแน่นอน” นั้น หมายถึง หลักฐาน
ปรากฏแก่ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ชั้นใดก็ได้ หากผู้บังคับบัญชาชั้นต้นซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงทัณฑ์มิได้
สั่งลงทัณฑ์ผู้กระทำผิด ก็ไม่ตัดอำนาจผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือในวันที่จะสั่งลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิด
กล่าวคือ ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ชั้นเหนือขึ้นไปที่ทราบหลักฐานแห่งความผิดของผู้กระทำผิดโดยแน่นอน
ในภายหลัง ก็มีอำนาจที่จะลงทัณฑ์ผู้กระทำผิดได้ภายใน ๓ เดือน (หนังสือกรมพระธรรมนูญ ที่
กห๐๒๐๒.๒/๓๒๗๖ ลง ๒๙ พ.ค.๒๙)

อำนาจและหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาในการรักษาวินัยทหาร

ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารหน่วยตลอดจน
ปกครองบังคับบัญชาดูแลทุกข์สุขผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามภารกิจและการจัดหน่วยที่ตน
เป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของ
ผู้บังคับบัญชา สรุปได้ดังนี้

ก. อำนาจของผู้บังคับบัญชา

๑) ลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำผิดวินัยทหาร (มาตรา ๑๐) ไม่ว่าเป็นการกระทำ
ความผิดในหรือนอกราชการอาณาจักร

๒) ใช้อาวุธในการรักษาวินัยทหาร หากมีความจำเป็น เพื่อปราบปรามทหารผู้ก่อ
การกำเริบ หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตน ซึ่งในการนี้ ผู้บังคับบัญชา
และผู้ที่ช่วยเหลือจะไม่ต้องรับโทษในการที่ได้กระทำไปโดยจำเป็นนั้นเลย (มาตรา ๖)

๓) ปลดหรือถอดยศทหารผู้ซึ่งกระทำผิดวินัยทหารได้ (มาตรา ๗)

ข. หน้าที่ของผู้บังคับบัญชา

๑) รักษาวินัยทหารโดยเคร่งครัดเสมอ (มาตรา ๕)

๒) ตักเตือน สั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
(มาตรา ๕ (๘) )

๓) เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้อาวุธในการรักษาวินัยทหาร เพื่อปราบปรามทหารผู้ก่อ
การกำเริบ หรือ เพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตนแล้ว ผู้บังคับบัญชาจะต้อง
รายงานเหตุดังกล่าวไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนและรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึง รมว.กห.
(มาตรา ๖)

๔) เมื่อได้ลงทัณฑ์นายทหารชั้นสัญญาบัตร จะต้องส่งรายงานการลงทัณฑ์นั้น
เสนอตามลำดับชั้นจนถึง รมว.กห. (มาตรา ๑๔)

๕) เมื่อได้รับเรื่องร้องทุกข์ ต้องรีบไต่สวนและจัดการแก้ไขความเดือนร้อน หรือ
ชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์เข้าใจ จะเพิกเฉยไม่ได้ หากผู้บังคับบัญชาคนใดเพิกเฉย ถือว่าผู้บังคับบัญชา
กระทำผิดต่อวินัยทหาร (มาตรา ๒๙)

การร้องทุกข์

๑. ความจำเป็นที่ต้องมีการร้องทุกข์

กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความเกี่ยวข้องระหว่างผู้บังคับ
บัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการปกครองและลงทัณฑ์แก่ผู้ใต้บังคับ
บัญชาที่กระทำผิดวินัยทหาร เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจในการปกครองบังคับบัญชาและรักษาความเป็น
ระเบียบเรียบร้อยของหน่วย แต่ถ้าหากผู้บังคับบัญชาอาจใช้อำนาจที่มีอยู่ไปในทางไม่ถูกต้อง
ยุติธรรม จึงสมควรที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีสิทธิ์ที่จะร้องทุกข์ได้ (มาตรา ๒๑) ทั้งนี้ ต้องเป็นไป
ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา ๖๑ ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภาย
ในเวลาอันสมควร ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

๒. ความหมายของการร้องทุกข์ (มาตรา ๒๒)

การร้องทุกข์ หมายถึง การที่ทหารชี้แจงว่า

๑) ผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนด้วยการอันไม่เป็นยุติธรรม หรือ

๒) ผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนโดยผิดกฎหมาย หรือ

๓) ผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนโดยผิดแบบธรรมเนียมทหาร หรือ

๔) ตนมิได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิตามที่ควรจะได้รับในราชการ

๓. วิธีร้องทุกข์

๑) ร้องทุกข์ด้วยวาจา ให้ผู้รับคำร้องทุกข์จดแจ้งข้อความสำคัญของเรื่องราว
ไว้ และให้ผู้ร้องทุกข์ลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน (มาตรา ๒๖ วรรคแรก)

๒) ร้องทุกข์เป็นหนังสือ ต้องลงลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าไม่มีลายมือชื่อ
ของผู้ร้องทุกข์ ผู้บังคับบัญชาไม่มีหน้าที่ต้องพิจารณา (มาตรา ๒๗)

๔. ร้องทุกข์ต่อผู้ใด

๑) ถ้าจะกล่าวโทษผู้ใด (กรณีที่ทราบตัวแน่ชัด) ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชา
โดยตรงของผู้นั้น (มาตรา ๒๖ วรรคแรก)

๒) ถ้าไม่ทราบชัดเจนว่า ตนได้รับความเดือนร้อนเพราะผู้ใด ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับ
บัญชาโดยตรงของตน เพื่อเสนอไปตามลำดับชั้นจนถึงที่สุดคือผู้ที่จะสั่งการไต่สวนและแก้ความ
เดือดร้อนนั้นได้ (มาตรา ๒๖ วรรคสอง)

๕. กรณีร้องทุกข์แล้วไม่ได้รับคำชี้แจง

เมื่อการร้องทุกข์ครั้งแรกได้ล่วงพ้นไป ๑๕ วัน โดยที่ไม่ได้รับคำชี้แจงรวมทั้งความ
เดือดร้อนก็ยังไม่ปลดเปลื้องไป ให้ร้องทุกข์ใหม่ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นที่สูงถึงขึ้นไปจากผู้ที่เคยร้องทุกข์
ไว้ครั้งแรก และให้ชี้แจงในการร้องทุกข์ครั้งนี้ด้วยว่าได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นใดมาแล้ว
แต่เมื่อใด (มาตรา ๒๘)

๖. กรณีได้รับคำชี้แจงเรื่องร้องทุกข์แล้ว แต่ยังไม่หมดความสงสัย

ถ้าผู้บังคับบัญชาที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ได้ชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์ทราบแล้ว แต่ผู้ร้องทุกข์
ยังไม่หมดความสงสัย ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปได้ และต้องชี้แจงด้วยว่าได้
ร้องทุกข์ต่อผู้ใด และได้รับคำชี้แจงอย่างไรด้วย (มาตรา ๓๐)

๗. ข้อห้ามในการร้องทุกข์

๑) ห้ามร้องทุกข์แทนผู้อื่น ให้ร้องทุกข์สำหรับตนเองเท่านั้น (มาตรา ๒๓)

๒) ห้ามลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน (มาตรา ๒๓)

๓) ห้ามมิให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องจะร้องทุกข์ (มาตรา ๒๓)

๔) ห้ามร้องทุกข์ในเวลาที่กำลังเข้าแถว หรือในขณะทำหน้าที่เวรยาม (มาตรา ๒๔)

๕) ห้ามร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง นับแต่มีเหตุจะต้องร้องทุกข์
เกิดขึ้น (มาตรา ๒๔)

๖)ห้ามร้องทุกข์ว่าผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชามิได้
ลงทัณฑ์เกินอำนาจ (มาตรา ๒๕)

๗) ห้ามร้องทุกข์เป็นบัตรสนเท่ห์ เพราะหนังสือร้องทุกข์จะต้องลงลายมือชื่อของ
ผู้ร้องทุกข์ (มาตรา ๒๗)

๘) ห้ามร้องทุกข์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ (มาตรา ๓๑)

๙) ห้ามร้องทุกข์ที่ผิดระเบียบการร้องทุกข์ (มาตรา ๓๑)

ข้อสังเกต

สิทธิในการร้องทุกข์ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยทุกคน โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งการ้องทุกข์ของทหาร จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วย
วินัยทหารฯ หมวด ๔ ซึ่งหากนอกเหนือไปจากนี้แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการร้องทุกข์

ส่วนกรณีที่มีการร้องเพื่อขอให้ทางราชการช่วยเหลือ หรือการเสนอความเห็นที่ตนคิด
ว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทางราชการเท่านั้น ถือว่าเป็นการร้องเรียน แต่มิใช่การร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.ว่า
ด้วยวินัยทหารฯ (คำชี้แจงทหาร ที่ เรื่อง การร้องเรียน)

กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารและความเกี่ยวพันกับกฎหมายอื่น

ก. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มีบทบัญญัติโดย
ตรงที่มีผลบังคับต่อกฎหมายวินัยทหาร คือ

๑) มาตรา ๖๔ บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตาม
รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดย
อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย
หรือจรรยาบรรณ

๒) มาตรา ๖๑ บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการ
พิจารณาภายในเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ข้อสังเกต จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ ทั้ง ๒ มาตรา เป็นการรองรับ
พ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยทหาร ฯ ในส่วนที่ทหารต้องอยู่ภายใต้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับวินัยทหารไม่ว่า
จะเป็นกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังบัญญัติถึงสิทธิในการร้องทุกข์
ของทหาร ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการร้องทุกข์ไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.วินัยทหาร ฯ ตั้งแต่
มาตรา ๒๑ ถึง มาตรา ๓๑

ข. ประมวลกฎหมายอาญาทหาร

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นกฎหมายที่กำหนดลักษณะโทษและความผิด
ต่าง ๆ ที่เป็นความผิดทางอาญาในบางลักษณะเพื่อลงโทษแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เหตุผลก็คือ
การที่ทหารกระทำผิดกฎหมายอาญาบ้านเมืองนั้น นอกจากจะเป็นความผิดทางอาญาแล้ว
ความผิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการละเว้นการอันควรประพฤติของฝ่ายทหารเจือปนด้วย จึง
สมควรมีกฎหมายอาญาทหารเพื่อลงโทษทหารให้หนักกว่าผู้กระทำผิดเช่นเดียวกันซึ่งเป็นคน
ธรรมดาสามัญ นอกจากนี้ ความผิดทางอาญาในทางทหารถือว่าเป็นความผิดวินัยกึ่งอาญา
แผ่นดิน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๒๑/๒๔๙๕) สำหรับประมวลกฎหมายอาญาทหารในส่วนที่
เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร มีหลายกรณีด้วยกัน กล่าวคือ

๑) ให้อำนาจลงทัณฑ์ผู้กระทำผิดวินัยทหาร ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ
ผิดที่ใด

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๗ บัญญัติว่า ผู้มีอำนาจบังคับบัญชา
ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร มีอำนาจลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำผิดวินัยทหารตามกฎหมาย
ว่าด้วยวินัยทหาร ไม่ว่าเป็นการกระทำความผิดในหรือนอกราชอาณาจักร

๒) การกระทำผิดกฎหมายอาญาทหารในบางลักษณะให้อำนาจผู้บังคับบัญชา
ลงทัณฑ์ทางวินัยแทนการส่งตัวฟ้องศาลได้

การลงทัณฑ์ทางวินัย กับ การลงโทษทางอาญานั้น แตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้ง
ในเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายและวิธีปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด รวมทั้งผลที่มีต่อผู้กระทำผิด แต่ใน
ความผิดตามกฎหมายอาญาทหารบางลักษณะกฎหมาย ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณา
เห็นว่า การกระทำผิดดังกล่าวเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจลงทัณฑ์ให้ถือว่า
เป็นความผิดต่อวินัยทหาร ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย
อาญา มาตรา ๘ และ ๙ คือ

มาตรา ๘ การกระทำความผิดอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๓
มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔
มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๔
มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตามกฎหมายว่า
ด้วยวินัยทหารพิจารณาเห็นว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ให้ถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหารและ
ให้มีอำนาจลงทัณฑ์ตามมาตรา ๗ เว้นแต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการตามกฎหมายว่าด้วย
ธรรมนูญศาลทหาร จะสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในศาลทหาร หรือจะมีการ
ดำเนินคดีนั้นในศาลพลเรือน ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร จึงให้เป็นไปตามนั้น

มาตรา ๙ ความที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ให้ใช้ตลอดถึงความผิดลหุโทษและ
ความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย

ตามปกติแล้ว ความผิดทุกมาตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทหาร
ทุกมาตรา ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ย่อมถูกส่งตัว
ฟ้องศาล แต่ความในมาตรา ๘ บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าเป็นความผิดตามมาตราใดมาตรา
หนึ่ง รวม ๒๑ มาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๒๑ นายเรือทำให้เรือชำรุดโดยประมาท

มาตรา ๒๓ ทำให้เรือทหารชำรุดหรืออับปางโดยประมาท

มาตรา ๒๔ ความผิดที่กระทำต่อเรือที่ใช้เดินในลำน้ำ

มาตรา ๒๗ ทหารทำลายหรือละทิ้งทรัพย์ที่ใช้ในการยุทธ

มาตรา ๒๘ สบประมาทธง

มาตรา ๒๙ ทหารละทิ้งหน้าที่

มาตรา ๓๐ ทหารขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง

มาตรา ๓๑ ทหารขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามคำสั่งอย่างองอาจ

มาตรา ๓๒ ทหารขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามข้อบังคับ

มาตรา ๓๓ ทหารขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามข้อบังคับอย่างองอาจ

มาตรา ๓๔ ทหารหลับยามหรือเมาสุรา

มาตรา ๓๕ ทหารไม่เอาใจใส่หรือประมาทในหน้าที่

มาตรา ๓๖ ทำร้ายทหารยาม

มาตรา ๓๗ หมิ่นประมาทหรือขู่เข็ญทหารยาม

มาตรา ๓๙ ทหารทำร้ายผู้ใหญ่เหนือตน

มาตรา ๔๑ ทหารแสดงความอาฆาต หรือหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา หรือ
ทหารผู้ใหญ่เหนือตน

มาตรา ๔๒ ทหารกระทำการกำเริบ

มาตรา ๔๓ ทหารกระทำกำเริบโดยมีสาตราวุธ

มาตรา ๔๔ ทหารกระทำการกำเริบแล้วเลิกไปโดยดี

มาตรา ๔๖ ทหารกระทำผิดฐานหนีราชการ

มาตรา ๔๗ ทหารปลอมปนทรัพย์ของทหาร

หากผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นว่า การกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน ๒๑
ลักษณะนี้ เป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็ให้ถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหาร และผู้บังคับบัญชามี
อำนาจลงทัณฑ์ทางวินัยได้ แต่มีข้อยกเว้นไว้ว่าในความผิดดังกล่าว ถ้าผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ
จะสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำผิดฟ้องศาลก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ เพราะว่าอำนาจสั่งคดีในทาง
ศาลทหารเป็นอำนาจ ตามกฎหมายของผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการโดยตรง ส่วนความผิดตาม
ประมวลกฎหมายอาญาทหารในมาตราอื่นที่มิได้ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ใน มาตรา ๘ ผู้บังคับบัญชา
ไม่มีอำนาจพิจารณาว่าเป็นความผิดเล็กน้อยไม่สำคัญ ยกตัวอย่าง เช่น ทหารกระทำผิดตาม
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๘ ฐานทำร้ายผู้บังคับบัญชา กรณีเช่นนี้ ทหารผู้กระทำผิด
จะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

การกระทำอย่างไรที่ถือว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ

จะต้องพิจารณาถึง “การกระทำผิด” เป็นอันดับแรก และพิจารณาถึง “ผลที่
เกิดขึ้น” จากการกระทำนั้นเป็นลำดับต่อมา ถ้าการกระทำผิดเป็นเรื่องสำคัญ และผลที่เกิดขึ้น
จากการกระทำนั้นส่งผลเสียหายต่อทางราชการอย่างร้ายแรง เช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยไม่
สำคัญ ผู้บังคับบัญชาไม่อาจใช้อำนาจตาม มาตรา ๘ มาลงทัณฑ์ทางวินัยแก่ผู้กระทำผิดได้ จะ
ต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดในทางอาญาต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ความผิดตามประมวลกฎหมาย
อาญาทหาร มาตรา ๒๑ ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นนายเรือ ท่านใช้ให้ควบคุมเรือของทหาร และ
กระทำการหรือปล่อยให้เรือชำรุดหรืออับปางด้วยความประมาท ให้จำคุกไม่เกิน ๓ ปี” ซึ่งการ
กระทำตามมาตรานี้ก็คือ นายเรือควบคุมเรือของทหารโดยประมาท แล้วกระทำหรือปล่อยให้
เรือชำรุด ผลของการกระทำคือ ถ้าเรือนั้นชำรุดเสียหายไม่มาก ก็ย่อมพิจารณาได้ว่าเป็นการ
เล็กน้อยไม่สำคัญ แต่ถ้าการควบคุมเรือโดยประมาทนั้นเป็นผลให้เรืออับปางเสียหายทั้งลำ
เกิดผลเสียหายนับล้านบาท เช่นนี้ย่อมพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย [1]

เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาว่าความผิด
อาญาบางลักษณะเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็ให้ลงทัณฑ์ได้นั้น มิได้เป็นการช่วยเหลือผู้กระทำ
ผิดแต่เป็นการช่วยเหลือในด้านการปกครองบังคับบัญชาทหาร อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจของ
ผู้บังคับบัญชาตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๘ มีข้อบัญญัติยกเว้นไว้ว่า ถ้าผู้มี
อำนาจแต่งตั้งตุลาการสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำผิดไปดำเนินคดีในศาลทหารหรือในศาลพลเรือนตาม
กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร ก็ให้เป็นไปตามนั้น เพราะผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการคือ
ผู้บังคับบัญชาทหาร ซึ่งได้รับมอบพระราชอำนาจจากพระมหากษัตริย์ ให้เป็นผู้แต่งตั้งและ
ถอดถอนตุลาการศาลทหารชั้นต้น [2] อันได้แก่

ก. ผบ.จทบ. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาล จทบ.

ข. ผบ.มทบ. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาล มทบ.

ค. ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาล
ประจำหน่วยทหาร

ง. รมว.กห. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ ศท.ก.ท. [3]

จากข้อยกเว้นดังกล่าวจะเห็นว่าการที่จะชี้ขาดว่า การกระทำผิดอย่างใด
เป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ หรือไม่หรือควรส่งคดีฟ้องศาลนั้น กฎหมายมุ่งหมายให้ผู้มีอำนาจ
แต่งตั้งตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้นในทางปฏิบัติ จึงเป็นการจำเป็นที่ผู้บังคับบัญชาจะ
ต้องส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการทหาร เพื่อนำเสนอผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการเป็นผู้
วินิจฉัย โดยผู้บังคับบัญชาหาควรวินิจฉัยสั่งการเสียเองไม่ การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งลงทัณฑ์
ทางวินัยแก่ผู้กระทำผิดในลักษณะตามมาตรา ๘ ไปก่อนนั้น หาได้ตัดอำนาจผู้มีอำนาจ
แต่งตั้งตุลาการในการที่จะส่งตัวผู้กระทำผิดไปดำเนินคดียังศาลทหารได้ เพราะความผิด
ดังกล่าวเป็นความผิดอาญาและผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการเป็นผู้ได้รับมอบพระราชอำนาจใน
ด้านศาลทหารโดยเฉพาะ ยกตัวอย่าง เช่น จำเลยมีหน้าที่เป็นนายสิบเวรกองร้อย ในระยะ
เวลาอันเป็นหน้าที่ราชการของจำเลย จำเลยได้ละทิ้งหน้าที่ออกจากกองร้อยไป ระหว่างจำเลย
ละทิ้งหน้าที่ไปได้มีคนร้ายลักเอาปืนกลเบาไป ๕ กระบอก ผู้บังคับกองร้อย และผู้บังคับกองพัน
ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานผิดวินัย จึง
ลงทัณฑ์ขังจำเลย ๑๕ วัน จำเลยต้องขังครบ ๑๕ วันแล้ว เจ้าหน้าที่กองร้อยรับตัวออกจาก
เรือนจำ ครั้นต่อมาได้ทำการสอบสวนและฟ้องจำเลยเป็นคดีขึ้น ศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า
ความผิดของจำเลยต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๒๙ (๓) การที่จำเลยเป็น
สิบเวรกองร้อยแล้วละทิ้งหน้าที่ไป ในระหว่างจำเลยละทิ้งหน้าที่ไปได้มีคนร้ายลักเอาปืนกลเบา
ไปถึง ๕ กระบอก ย่อมไม่ใช่เป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ เพราะปืนกลเบาถึง ๕ กระบอก มีราคาสูง
ปืนเป็นอาวุธสำคัญของทหาร คำสั่งลงทัณฑ์นั้นจะอนุโลมเป็นการเปรียบเทียบคดีไม่ได้ และ
ไม่ตัดอำนาจผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการที่สั่งให้ฟ้องจำเลย [4]

คำว่า “ให้ส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในศาลทหาร หรือจะมีการ
ดำเนินคดีนั้นในศาลพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร” นั้น หมายความว่า
เป็นคดีที่ต้องดำเนินคดีในศาลทหาร หรือศาลพลเรือนที่ทำหน้าที่เป็นศาลทหาร ในกรณีที่มีการ
ประกาศใช้กฎอัยการศึก และผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้มีประกาศให้ศาลพลเรือนที่
อยู่ในพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำหน้าที่เป็นศาลทหาร สำหรับพิจารณาความผิดตามที่
ระบุท้ายประกาศเท่านั้น การใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาในกรณีนี้ จึงไม่อาจใช้กับความผิด
ที่ต้องขึ้นศาลพลเรือน

กรณีที่เป็นความผิดลหุโทษและความผิดที่เปรียบเทียบได้

ความในประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๙ หมายความว่า หลักเกณฑ์
ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าการกระทำผิดเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็ให้ลงทัณฑ์
ทางวินัยได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘ นั้น ให้นำไปใช้ในกรณีที่ทหารกระทำ
ความผิดลหุโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่มีระวางโทษ
ไม่เกินความผิดลหุโทษ ตลอดจนความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย ซึ่งแยกพิจารณาได้
ดังนี้

ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดที่ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับ
ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๒) ซึ่งได้แก่
ความผิดลหุโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๓ ตั้งแต่ มาตรา ๓๖๗ – ๓๙๘
รวม ๓๒ มาตรา ซึ่งบางมาตรามีเพียงโทษปรับสถานเดียว และบางมาตรามีทั้งโทษปรับและ
โทษจำคุก ความผิดลหุโทษถึงแม้จะมีโทษเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความกันได้

ความผิดที่เปรียบเทียบได้ เป็นความผิดที่มีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.
การเปรียบเทียบคดีอาญา พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๔ และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเปรียบเทียบ
คดีอาญา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๙ กล่าวคือ ในความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษ
ไม่สูงกว่าความลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ให้พนักงาน
สอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคดีนั้น มีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามความในประมวลกฎหมายวิธี
พิจารณาความอาญา มาตรา ๓๘ ความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย คือ ความผิดลักษณะ
ดังต่อไปนี้

ก. ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงไม่เกินความผิดลหุโทษ
(จำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท)

ข. คดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท

ค. คดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น

ความมุ่งหมายของการเปรียบเทียบ (ปรับ) คดีอาญา ก็เพื่อให้ประชาชนทั่วไป
ได้รับความสะดวกและไม่เสียเวลาในการประกอบอาชีพ กฎหมายจึงให้อำนาจพนักงาน
สอบสวนทำการเปรียบเทียบคดีอาญาที่เป็นความผิดในลักษณะดังกล่าวได้โดยไม่ต้องนำคดี
ขึ้นสู่ศาล ในความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตรา
อย่างสูงสำหรับความผิดนั้นก่อนศาลพิจารณา หรือในความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มี
อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่นนั้น เมื่อ
ผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบแล้ว คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน [5]

ความผิดทั้งสองลักษณะดังกล่าว คือ ความผิดลหุโทษและความผิดที่
เปรียบเทียบได้อันเป็นความผิดที่ผู้บังคับบัญชาสามารถลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำได้นั้น ประการแรก
จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ของมาตรา ๗ เสียก่อน กล่าวคือผู้กระทำผิดต้องเป็นทหาร ประการ
ต่อมาจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๘ ด้วย กล่าวคือ ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นว่า
เป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญและถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหารด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก
ความผิดลหุโทษและความผิดที่เปรียบเทียบได้ เป็นความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรงและมีอัตราโทษ
ไม่สูง ทั้งกฎหมายยังให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบได้ ซึ่งมีผลทำให้คดี
อาญาเลิกกันไปก่อนที่คดีจะขึ้นสู่ศาล ซึ่งส่วนใหญ่คดีจะระงับไปตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน
โอกาสที่คดีความผิดดังกล่าวจะมาถึงผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาใช้อำนาจตาม มาตรา ๘
จึงมีน้อยมาก

๓. เปรียบเทียบความผิดบางลักษณะของประมวลกฎหมายอาญาทหารกับ
กฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร

กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงการที่ทหารต้องอยู่ในวินัย
ทหารและหากกระทำผิดวินัยก็จะถูกลงทัณฑ์ทางวินัย ส่วนประมวลกฎหมายอาญาทหารเป็น
กฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญาซึ่งใช้บังคับแก่ทหารโดยตรง เท่ากับ
ว่ากฎหมายทั้ง ๒ ฉบับนี้มีลักษณะของการกระทำผิด และวิธีปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่แตกต่าง
กันอย่างชัดเจนระหว่างความผิดทางวินัยกับความผิดทางอาญา แต่ความจริงแล้วความผิด
บางลักษณะในกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับนี้ คล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก ทั้งในด้านถ้อยคำและ
ตัวบทและลักษณะของความผิด ซึ่งก่อให้เกิดความไขว้เขวในทางปฏิบัติ การกระทำอย่างใด
เป็นความผิดวินัย อย่างใดเป็นความผิดคดีอาญา และอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการ
สั่งการของผู้บังคับบัญชาทำให้คลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามกฎหมายได้ เช่น ความผิดฐานขัด
คำสั่งและความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ จึงขอนำตัวบทกฎหมายมาเปรียบเทียบกัน ดังนี้

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความผิดบางลักษณะที่มีองค์ประกอบคล้ายกัน :
ฐานขัดคำสั่ง

พ.ร.บ. วินัยทหาร
ป.อาญาทหาร

มาตรา ๕ (๑) ดื้อ ขัดขืน หรือละเลย
ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
มาตรา ๓๐

ผู้ใดเป็นทหาร และมันขัดขืน
หรือละเลยมิกระทำตามคำสั่ง


ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความผิดบางลักษณะที่มีองค์ประกอบคล้ายกัน :
ฐานละทิ้งหน้าที่

พ.ร.บ. วินัยทหาร
ป.อาญาทหาร

มาตรา ๕ (๕) เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
มาตรา ๒๙

ผู้ใดเป็นทหาร ท่านใช้ให้อยู่ยามรักษาการณ์ก็ดี ท่านมอบหมายให้กระทำตามบังคับ หรือคำสั่งอย่างใด ๆ ก็ดี และถ้ามันละทิ้งหน้าที่นั้นเสีย


เมื่อเปรียบเทียบลักษณะความผิดตามกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ ดังกล่าวมีข้อพิจารณา
ดังนี้

ก. ความผิดฐานขัดคำสั่งที่ถือว่าเป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญาทหารนั้น
ตามมาตรา ๔ บัญญัตินิยามศัพท์ คำว่า “คำสั่ง” หมายความว่า บรรดาข้อความที่ซึ่งผู้บังคับ
บัญชาทหารผู้ถืออำนาจอันสมควรเป็นผู้สั่งไปโดยสมควรแก่กาลสมัยและชอบด้วยพระราช
กำหนดกฎหมาย คำสั่งเช่นว่านี้ท่านว่า เมื่อผู้ได้รับคำสั่งนั้นได้กระทำตามแล้ว ก็เป็นอันหมด
เขตของการที่สั่งนั้น จากบทนิยามศัพท์ดังกล่าว “คำสั่ง” ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
มีองค์ประกอบ ดังนี้

๑) เป็นคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้สั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย

๒) คำสั่งเช่นว่านี้ ถ้าได้กระทำตามแล้วก็เป็นอันหมดเขตของการสั่งนั้น ซึ่ง
หมายความว่าเป็นคำสั่งที่มีระยะเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดมิใช่คำสั่งที่มีลักษณะต้องปฏิบัติ
ตลอดไป

ดังนั้น ถ้าคำสั่งใดที่ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้สั่ง และคำสั่งมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น
ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับทราบคำสั่งแล้ว ขัดขืนละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง ก็เป็นความผิดต่อ
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีลักษณะเจาะจง เช่น สั่งให้ใคร ทำอะไร หรือ
ปฏิบัติอะไร โดยคำสั่งดังกล่าวต้องมีการปฏิบัติและมีการสิ้นสุด เมื่อผู้ได้รับคำสั่งได้ปฏิบัติการ
ตามคำสั่งนั้นแล้ว ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจที่ได้รับคำสั่ง แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งโดยไม่ชอบ
ด้วยกฎหมาย ผู้ซึ่งขัดขืนละเลยไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งตามประมวลกฎหมาย
อาญาทหาร นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาสั่งห้ามมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำในสิ่งที่
กฎหมายบัญญัติห้ามไว้แล้ว ถ้ามีการฝ่าฝืนก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานขัดคำสั่ง ตามประมวล
กฎหมายอาญาทหาร เช่น คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งห้ามมิให้ยิงปืนในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุ
สมควร การที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
เพราะถึงแม้ผู้บังคับบัญชามิได้มีคำสั่ง จำเลยก็มีหน้าที่ต้องงดเว้นไม่ฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องนี้
อยู่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งนี้ได้สั่งเพื่อประโยชน์ในราชการตามหน้าที่ของผู้สั่งแต่อย่างใด
คำสั่งนี้จึงไม่เป็นคำสั่งตามความหมายของมาตรา ๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญาทหาร
ดังนั้น ความผิดฐานขัดคำสั่งในกรณีนี้ จึงต้องตีความคำสั่ง “คำสั่ง” โดยเคร่งครัดตามบท
นิยามศัพท์ เพราะเป็นความผิดทางอาญา

ข) ส่วนความผิดฐานขัดคำสั่งที่ถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหารไม่มีบทนิยาม
ศัพท์อธิบายคำว่า คำสั่ง ไว้ชัดเจน เช่น ความผิดทางอาญา ดังนั้น หากผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง
โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นการสั่งการแก่ทหารทั่วไป ซึ่งคำสั่งนั้นมิได้มีลักษณะเฉพาะ
เจาะจงต่อทหารผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งยังเป็นคำสั่งที่ใช้ได้ตลอดไปโดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ยกเว้น
จะมีการยกเลิก เช่นนี้ ทหารที่ขัดขืนละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในลักษณะหลังนี้ถือว่าเป็น
ความผิดต่อวินัยทหาร แต่ไม่เป็นความผิดอาญา เช่น คำสั่ง กห. ที่ ๑๔๔/๓๕ เรื่อง จำกัด
การเสพสุราของข้าราชการ ลง ๑๗ ก.พ.๓๕ (ผนวก ฎ.) ซึ่งใช้บังคับแก่ข้าราชการทหารและ
ลูกจ้าง โดยมีคำสั่งเกี่ยวกับการจำกัดการเสพสุรา เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่นิยมการเสพสุราไป
ก่อคดีอาญา อันนำมาซึ่งความเสื่อมเกียรติแก่ทางราชการ

ค) สำหรับความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ในส่วนของกฎหมายวินัยทหาร บัญญัติว่า
ละทิ้งต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งหมายถึงหน้าที่ราชการที่ได้รับมอบ อันเป็นความหมายที่กล่าวไว้
กว้าง ๆ แต่ในส่วนของกฎหมายอาญาทหาร บัญญัติว่า ทหารซึ่งเป็นยามรักษาการณ์หรือ
ได้รับมอบหมายให้กระทำตามบังคับหรือคำสั่งอย่างใด ๆ ถ้าละทิ้งหน้าที่นั้นเสีย ดังนั้น
คำว่าละทิ้งหน้าที่ในความหมายของกฎหมายอาญาทหาร จึงหมายรวมถึง หน้าที่ยาม
รักษาการณ์ หน้าที่ที่ได้รับมอบให้ทำตามบังคับหรือทำตามคำสั่งอย่างใด ๆ แล้วได้ละทิ้ง
หน้าที่ ไปอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงถือเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาทหารเมื่อพิจารณาถึง
ลักษณะความผิดทางอาญาซึ่งบัญญัติไว้เฉพาะส่วนการละทิ้งหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วย
วินัยทหาร ได้กล่าวไว้กว้าง ๆ โดยมิได้เจาะจงแต่ก็มีข้อความคล้ายคลึงกับความผิด
ทางอาญา การที่จะพิจารณาว่าละทิ้งหน้าที่อย่างใดเป็นความผิดทางวินัย และละทิ้งหน้าที่
อย่างใดเป็นความผิดทางอาญา ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่าหน้าที่นั้นมีความสำคัญมากน้อย
เพียงใดหรือไม่ ประการต่อมา ผลการละทิ้งหน้าที่ก่อให้เกิดผลเสียหายเล็กน้อยหรือเสียหาย
อย่างร้ายแรงต่อทางราชการ ซึ่งถ้าเป็นหน้าที่ที่ไม่สำคัญ และการละทิ้งหน้าที่ไปไม่ก่อให้เกิด
ผลเสียหายหรือเสียหายเพียงเล็กน้อย ก็เป็นเพียงความผิดต่อวินัยทหาร แต่ถ้าหากเป็น
หน้าที่ที่มีความจำเป็นและสำคัญ ทั้งผลของการละทิ้งหน้าที่ไปนั้นทำให้เกิดความเสียหาย
อย่างร้ายแรงต่อทางราชการแล้ว ย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาทหาร.

วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

มู-ทัว


กล่าวทั่วไป
1. MOOTW อ่านว่า มู-ทัว ย่อมาจาก Military Operations Other Than War แปลเป็นไทย คือ การปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม บทความนี้ เสนอมุมมองเรื่อง บทบาทของกองทัพไทยที่เกี่ยวข้องกับ MOOTW
2. การปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม เริ่มเป็นที่สนใจ มีการกล่าวถึงและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว หลังยุคสงครามเย็นยุติลง ซึ่งเดิมนั้น การปฏิบัติการทางทหาร หรือภารกิจ ที่กองทัพได้รับมอบจากประเทศชาติ คือ การปฏิบัติการรบ หรือการทำสงคราม ดังนั้น การเตรียมกำลัง และการใช้กำลังของกองทัพในยุคสงครามเย็น จึงมุ่งเน้นสำหรับการทำสงครามเป็นหลักทั้งสิ้น เพื่อให้กำลังทหารสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปรามฝ่ายตรงข้าม และทำการรบเพื่อป้องกันประเทศ เมื่อการป้องปรามล้มเหลวและถูกรุกรานด้วยกำลังทหารจากภายนอก (แต่บางประเทศ ได้ใช้กำลังทหารรุกรานชาติอื่น เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติตน) ดังนั้น การดำเนินงานของกองทัพในเรื่องต่างๆ เช่น โครงสร้างกำลัง หลักนิยม การฝึกศึกษา และการซ้อมรบ จึงเน้นไปที่การปฏิบัติการรบ ด้วยการตั้งรับ การรุก และการปฏิบัติการภายใต้สภาพพิเศษทั้งปวง การปฏิบัติการเหล่านี้ คือ การสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) นั่นเอง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการทำการรบนอกแบบ การสงครามพิเศษ และการสงครามกองโจรประกอบด้วย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการสงครามตามแบบ ให้ฝ่ายเราได้รับชัยชนะอย่างเฉียบขาด และรวดเร็ว 3. เมื่อสงครามเย็นจบสิ้นลง สถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งรูปแบบภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติเปลี่ยนแปลงไป ดูเหมือนว่า รัฐน่าจะหมดความจำเป็นที่จะใช้กำลังทหารในการทำสงคราม เนื่องจาก ภัยคุกคามทางทหารแทบจะไม่มีเหลืออยู่เลย โอกาสที่จะเกิดสงครามน้อยมาก ยกเว้นแต่ สงครามอ่าวเปอร์เซีย และการรบที่จำกัดด้วยกำลังและพื้นที่ ในบางภูมิภาคของโลกที่ยังคงมีเหลืออยู่บ้าง ซึ่งสถานการณ์ส่วนใหญ่ จะเป็นเพียงความขัดแย้งระดับต่ำ ที่จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร เข้าไปเพื่อการป้องปราม ลดโอกาสการเกิดสงคราม และยุติความขัดแย้ง หรือ ทำหน้าที่เป็นตำรวจ เข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาสันติภาพ ในลักษณะเป็นกรรมการห้ามศึก หรือ เป็นผู้ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ต่อผู้ประสบเคราะห์กรรมจากความขัดแย้งทั้งปวง นักการทหาร ได้พยายามกำหนดนิยามการใช้กำลังทหารในลักษณะต่างๆ และหลักนิยมขึ้นใหม่หลายประการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เหล่านี้ เช่น การใช้กำลังทหารในสถานการณ์ตามระดับความขัดแย้ง ที่แบ่งออกเป็น ความขัดแย้งระดับต่ำ (Low-intensity Conflicts) ไปจนถึง ความขัดแย้งระดับปานกลาง และ ความขัดแย้งระดับสูง (High-intensity Conflicts) อย่างไรก็ตาม การกำหนดขอบเขตของแต่ละระดับความขัดแย้ง ก็ยังไม่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ กำลังทหารที่เคยเตรียมไว้ใช้เฉพาะสำหรับการทำสงคราม ซึ่งก็คือ ในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับสูง ก็ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับต่ำ แม้จะเป็นระดับการใช้กำลังจะต่ำกว่า แต่ก็อันตรายและเสี่ยงพอสมควร การศึกษาและถกแถลงเรื่องนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
4. พลเอกแอริก ชินเซกิ เสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ตอนหนึ่งระหว่างการบรรยายพิเศษ ในการประชุมผู้บัญชาการทหารบกอาเซียน ครั้งที่ 1 (ASEAN Chiefs of Armies Multilateral Meeting I : ACAMM I) ที่ประเทศไทย เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2543 ว่า "In the ten years since the Cold War ended, we (the United States Army) have been asked to deploy forces around the globe to perform a number of missions that we rarely planned for during the cold war…." ตัวอย่างภารกิจดังกล่าว คือ Disaster Relief, Demining, Counter-narcotics, และ Peacekeeping Operations.
5. อย่างไรก็ตาม แม้จะมีภารกิจรูปแบบใหม่ที่กองทัพได้รับมอบมากขึ้น แต่กำลังทหารจะลืมภารกิจหลัก คือ การทำสงคราม ไม่ได้ เพราะสถานการณ์และภัยคุกคามยังไม่แน่นอน ความจำเป็นต้องใช้กำลังทหารสำหรับการทำสงครามอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ และภารกิจการทำสงครามนี้ หากไม่เตรียมการให้พร้อมแล้ว เมื่อต้องปฏิบัติ ก็ยากที่จะประสบชัยชนะได้ หรือ แม้จะได้รับชัยชนะ แต่ก็คงเป็นที่แน่นอนว่า จะต้องมีการสูญเสียทั้งคนและทรัพย์สินอย่างมากมาย ดังนั้น ประเทศชาติยังจำเป็นต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อป้องกันประเทศอย่างแน่นอน แต่คำถามสำคัญ คือ ประเทศควรจะมีกำลังทหารไว้จำนวนเท่าไร และไว้ทำอะไรบ้าง สำหรับใช้ในทุกภารกิจ ทั้งการทำสงครามและภารกิจอื่นนอกเหนือจากสงคราม ใช่หรือไม่ หากคำตอบคือใช่แล้ว จะต้องเตรียมกำลังทหารอย่างไร จึงจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติและการป้องกันประเทศในยามสงคราม พร้อมทั้งมีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติได้ทุกภารกิจและทุกระดับความขัดแย้งของสถานการณ์
รูปแบบภัยคุกคาม
6. เมื่อ ภัยคุกคาม คือ ปัญหาอุปสรรคของชาติ หรือ พลังอำนาจ ที่สามารถทำลายความมั่นคงของชาติ รวมทั้ง เอกราชอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศได้แล้ว รูปแบบภัยคุกคาม จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดบทบาทและภารกิจของทหาร เดิมนั้น ภัยคุกคามทางทหาร (Military Threat) คือ ภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงของชาติ กองทัพในฐานะเครื่องมือของรัฐ จึงมีภารกิจหลักในการลด ป้องปราม ป้องกัน และทำลาย ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการรุกรานด้วยกำลังทหารจากภายนอก ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ บทบาทของทหารอันนี้ จึงถือเป็น บทบาทดั้งเดิม (Traditional Roles) ที่ทหารถูกใช้ในการป้องกันประเทศในยุคสงครามเย็น
7. แต่ในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า แม้สถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ภัยคุกคามจากการใช้กำลังทหารแทบไม่มีเลย หรือไม่น่าเกิดขึ้น ในขณะที่ภัยคุกคามรูปแบบอื่นๆ ที่มิใช่ภัยคุกคามทางทหาร (Non - military Threat ) กลับปรากฏขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งแม้จะยังไม่รุนแรงจนทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเอกราชอธิปไตย หรือบูรณภาพแห่งดินแดน แต่หากไม่มีการจัดการภัยคุกคามเหล่านี้ให้หมดไปแล้ว ย่อมจะขยายตัวและส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติได้เช่นกัน ดังนั้น การพิจารณาภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ครบถ้วนทุกรูปแบบ ในลักษณะของความมั่นคงเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Security) ครอบคลุมทั้งความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการทหาร ไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาความมั่นคงแบบองค์รวม (Holistic) ด้วย คือพิจารณาความมั่นคงทุกระดับ ตั้งแต่ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินส่วนบุคคล ไปจนถึง ความมั่นคงของชุมชน ของชาติ ของภูมิภาค และของโลก เนื่องจากปัญหาความมั่นคงเบ็ดเสร็จนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาความมั่นคงข้ามชาติ (Transnational Security) ที่แม้จะเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งของโลก แต่ก็มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคของพรมแดน จนกลายเป็นปัญหาระหว่างชาติ และของโลกได้ 8. ปัญหาความมั่นคงข้ามชาติเหล่านี้ ได้แก่ ยาเสพติด การก่อการร้าย การลักลอบค้าคน และของผิดกฎหมาย โจรสลัด โรคติดต่อร้ายแรง อาชญากรรมข้ามชาติ โลกาภิวัตน์ และความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เป็นต้น แม้แต่ปัญหาการขัดแย้งทางการเมือง สงครามกลางเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น รวมทั้งความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลกได้ ตามที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะชายแดนด้านตะวันตก ในปัญหายาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการรุกล้ำอธิปไตย เป็นต้น
9. เมื่อภัยคุกคามมีหลากหลายรูปแบบ รัฐจึงต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ จัดการภัยคุกคามเหล่านี้ ทั้งด้วยการลด ป้องปราม และป้องกัน พร้อมกับ การเสริมสร้างพลังอำนาจทุกประเภท ไว้ทำลายภัยคุกคามเหล่านี้ให้หมดไป เครื่องมือของรัฐมีหลายประเภท กำลังทหารก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐสามารถใช้ได้ โดยเตรียมเอาไว้ต่อสู้กับภัยคุกคามทางทหารเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่กำลังทหารเป็นเครื่องมือที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งกำลังคนและเครื่องมือยุทโธปกรณ์ และมีระเบียบวินัย รัฐอาจพิจารณาใช้ทหารจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบอื่นได้ อันจะเป็นบทบาทที่ไม่ใช่บทบาทดั้งเดิมของทหาร (Non - traditional Roles) ทั้งนี้ระดับความจำเป็นของการใช้กำลังทหารในบทบาทอื่นที่มิใช่การรบนี้ ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาประเทศ และความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ประเทศใดที่ด้อยพัฒนา ก็มักจะไม่มีเครื่องมืออื่นๆ เช่น ระบบการเมืองการปกครอง องค์กรด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และการรักษาความมั่นคงภายใน ที่พร้อมมูลและมีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบอื่นๆ ที่มิใช่การทหารได้ ก็จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าไปช่วยจัดการ เมื่อใดที่ประเทศได้พัฒนาไปจนระบบการเมืองการปกครอง องค์กรด้านความมั่นคงภายใน การสาธารณสุข และการศึกษา มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมแล้ว ก็จะสามารถใช้จัดการภัยคุกคามเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเหมาะสม และเมื่อนั้น ความจำเป็นต้องใช้กำลังทหาร สำหรับภารกิจอื่นนอกเหนือจากการสงคราม ก็จะหมดไป
10. สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นประเทศกำลังพัฒนา องค์กรด้านการเมืองการปกครองและรักษาความมั่นคงภายใน องค์กรด้านสาธารณสุข การศึกษา และองค์กรที่มีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถจัดการกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ รูปแบบอื่นที่มิใช่ภัยคุกคามทางทหาร ได้อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ทหารกับพลเรือนยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก แม้กองทัพจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็ยังไม่สามารถแยกทหารออกจากการเมือง สังคม และความเป็นไปด้านอื่นๆ ภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์ กองทัพจึงจำเป็นต้องรับภาระหน้าที่ในบทบาทอื่นๆ นอกเหนือจากการรบและการป้องกันประเทศต่อไป ซึ่งบทบาทเหล่านี้เป็นการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากการสงคราม (MOOTW) ทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนบ้าง แม้จะมิใช่หน้าที่โดยตรงก็ตาม เช่น บทบาทในการช่วยพัฒนาประเทศ เป็นต้น ตราบใดที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่ ความมั่นคงของชาติก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น และเมื่อใดที่ความยากจนของประชาชนหมดไป และองค์กรของรัฐอื่นๆ ที่มีหน้าที่โดยตรง สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ ความมั่นคงภายในของชาติก็ย่อมจะเกิดขึ้น ในที่สุดบทบาทของทหาร ก็จะมีเพียง ภารกิจในการสงคราม เพื่อการป้องกันประเทศเท่านั้น
11. ยาเสพติด นับว่าเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ ที่ต้องเร่งจัดการทำลายล้างให้หมดไปจากแผ่นดินไทยโดยเร็ว ในขณะนี้เครื่องมือของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการต่อปัญหายาเสพติด เช่น ตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปราม องค์การด้านสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และองค์กรด้านการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ให้ความรู้แก่คนไทยถึงโทษภัยของยาเสพติด เพื่อป้องกันมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วย กองทัพแม้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐ แต่ก็ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการแก้ปัญหายาเสพติด แต่เมื่อยาเสพติดเป็นปัญหาร้ายแรงต่อความมั่นคงชาติ รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ และพร้อมที่จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างเด็ดขาด รัฐจึงได้มอบหมายให้กองทัพเข้าไปช่วยในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งกองทัพก็พร้อมและเต็มใจที่จะเข้าไปดำเนินการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ กองทัพเตรียมกำลังทหารไว้สำหรับการรบ มิใช่สำหรับภารกิจในการป้องกัน ปราบปราม ยาเสพติด ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจอื่นที่มิใช่การรบ นั้น แม้อาจจะกระทำได้ แต่ถ้าจะให้ดี ก็ควรมีการฝึกศึกษา และการจัดหายุทโธปกรณ์พิเศษบางประการเพิ่มเติมให้ ซึ่งกองทัพก็ได้เร่งดำเนินการอยู่ ทั้งนี้รวมถึงการปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ที่กำลังทหารจำเป็นต้องได้รับการฝึกศึกษาเพิ่มเติม จึงจะสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียน้อย และสำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอบเขตและระดับความรุนแรงของการปฏิบัติการทางทหาร
12. นักการทหารสหรัฐฯ ได้แบ่งลักษณะการปฏิบัติการของทหาร ระดับความรุนแรง ขอบเขต และความทับซ้อนกัน ตามภาพข้างล่าง

ลักษณะและระดับความรุนแรงของการปฏิบัติการทางทหาร
13. บทบาทของทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อประเทศชาตินั้น ครอบคลุม ลักษณะ รูปแบบ และระดับความเข้มข้นหรือรุนแรงของการปฏิบัติกว้างขวางมาก แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถจำแนกการปฏิบัติการของทหาร เป็นสองประเภทที่ทับซ้อนกัน คือ
13.1 การปฏิบัติการทางทหารในสงคราม (War) ซึ่งกองทัพต้องสามารถดำรงความเป็นหนึ่ง และต้องไม่แพ้ใครในสนามรบ
13.2 การปฏิบัติการอื่นๆ ในยามสงบ (Peace) ซึ่งกองทัพต้องแสดงพลังอำนาจ ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ และน่าเกรงขาม สามารถป้องปราม บังคับและชักจูงให้เกิดความสงบ และดำรงไว้ซึ่งสันติภาพได้
14. การปฏิบัติการทางทหารในสงคราม มีระดับความรุนแรงของการปฏิบัติ ด้วยการใช้กำลังตั้งแต่ขนาดเบาไปหนัก ดังนี้
14.1 การจู่โจม (Raids) เป็น การใช้กำลังทหารในการตรวจค้นและทำลายเป้าหมายเฉพาะและจำกัด อย่างจู่โจม ด้วยกำลังทางอากาศ อาวุธระยะไกลหรือกำลังปฏิบัติการพิเศษ
14.2 การโจมตี (Strikes) เป็น การใช้กำลังทหารในการโจมตีทำลายเป้าหมาย ด้วยกำลังทางอากาศ หรืออาวุธระยะไกล มีลักษณะการปฏิบัติใกล้เคียงกับ Raids
14.3 การกบฏ และการต่อต้านการก่อความไม่สงบ (Insurgencies, Counter Insurgencies) การสนับสนุนมิตรประเทศในการปฏิบัติการเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม หรือไม่เป็นประชาธิปไตย และการต่อต้านการก่อความไม่สงบของกลุ่มต่อต้านต่างๆ ที่กระทำต่อรัฐบาลที่ชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย
14.4 การรบตามแบบในความขัดแย้งอย่างจำกัด (Limited Conventional Conflict) การใช้กำลังทหาร และไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ในการรบตามแบบ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับต่ำ และจำกัดพื้นที่และกำลัง
14.5 สงครามตามแบบเฉพาะภูมิภาค (Regional Conventional War) การใช้กำลังทหาร และไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ สำหรับการรบตามแบบ ในสงครามจำกัดเฉพาะภูมิภาคหนึ่ง
14.6 สงครามนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical Nuclear War) การใช้กำลังทหาร และอาวุธนิวเคลียร์ ในการปฏิบัติการระดับยุทธวิธี หรือในการรบปะทะที่จำกัดสนามรบ
14.7 สงครามโลก (Global Conventional War) การใช้พลังอำนาจทั้งสิ้น โดยเฉพาะ พลังอำนาจทางทหาร สำหรับการรบในสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์
14.8 สงครามนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ (Strategic Nuclear War) การใช้กำลังทหารและอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อวัตถุประสงค์ในระดับยุทธศาสตร์ หรือทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์
15. การปฏิบัติการอื่นๆ ในยามสงบ มี ดังนี้
15.1 การบรรเทาภัยพิบัติภายในประเทศ (Domestic Disaster Relief) การใช้กำลังทหาร เพื่อการบรรเทาภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบสาธารณะภัยต่างๆ ภายในประเทศ
15.2 การปฏิบัติการเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Operations) การใช้กำลังทหาร ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
15.3 การสนับสนุนส่วนราชการพลเรือนภายในประเทศ (Domestic Civil Support) การใช้กำลังทหารสนับสนุนอำนาจรัฐหรือส่วนราชการพลเรือน ในการแก้ปัญหาหรือวิกฤตการณ์ภายในประเทศ
15.4 ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับทหาร (Military to Military Contacts) การใช้กำลังทหาร ในการสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ด้วยการดำรงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ การฝึกซ้อมรบร่วม และการให้ความช่วยเหลือทางทหารรูปแบบต่างๆ
15.5 การควบคุมอาวุธ (Arms Control) การใช้พลังอำนาจทางทหารในการควบคุม บังคับ หรือโน้มน้าว มิให้ประเทศต่างๆ แข่งขันกันสร้างสมอาวุธและพลังอำนาจทางทหาร อันอาจนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจและความขัดแย้งจนใช้กำลังทหารได้ รวมถึง การควบคุมการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง (Control of Proliferation of Weapons of Mass Destruction) การลักลอบค้าอาวุธเถื่อนและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ และการดำรงกำลังทหารและพันธมิตรในบางภูมิภาค
15.6 การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) การใช้กำลังทหารในการปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม รวมทั้งการบรรเทาภัยพิบัติในต่างประเทศ
15.7 การช่วยเหลือด้านความมั่นคง (Security Assistance) การใช้กำลังทหาร เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของมิตรประเทศและภูมิภาค
15.8 การต่อต้านยาเสพติด (Counter Drug) การใช้กำลังทหารในการต่อต้าน ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด
15.9 การแสดงกำลัง (Show of Force) การแสดงพลังอำนาจทางทหาร และการใช้กำลังทหาร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่มิตรประเทศ ในขีดความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
15.10 การปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ (Peace Operations) ครอบคลุมการปฏิบัติการ ๕ ประเภท คือ Preventive Diplomacy, Peace Making, Peace Building, Peace Keeping, และ Peace Enforcement
15.11 การปฏิบัติการอพยพพลเรือน (Non-combatant Evacuation Operations) การใช้กำลังทหาร เพื่ออพยพพลเรือน หรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบ ออกจากพื้นที่การสู้รบ หรือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง
15.12 การต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism) การใช้กำลังทหารสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการพลเรือน ในการต่อต้านการก่อการร้าย
15.13 การใช้กำลังบังคับเพื่อสันติภาพ (Peace Enforcement) การใช้กำลังทหาร เพื่อบังคับให้คู่กรณีที่ขัดแย้ง หรือทำสงครามกัน มาร่วมโต๊ะเจราจา และเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
16. ระดับการใช้กำลังทหารที่ทับซ้อนกันระหว่างการปฏิบัติการอื่นๆ ในยามปกติ และการปฏิบัติการทางทหารในยามสงคราม ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการปฏิบัติการในความขัดแย้งระดับต่ำ (Low Intensity Conflict) มีดังนี้ การปฏิบัติการอพยพพลเรือน การต่อต้านการก่อการร้าย การใช้กำลังบังคับเพื่อสันติภาพ การจู่โจม การโจมตี การกบฎและการต่อต้านการก่อความไม่สงบ และการปฏิบัติการในความขัดแย้งอย่างจำกัด
การใช้พลังอำนาจทางทหาร และแนวความคิดการพัฒนากองทัพบกสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21
17. การยุติลงของสงครามเย็น และการปฏิวัติกิจการทางทหาร (Revolution in Military Affairs) ในยุคข้อมูลข่าวสาร อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการโทรคมนาคม ทำให้มีการอภิปรายและโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา ในเรื่องการใช้พลังอำนาจทางทหารในฐานะเครื่องมือของรัฐ ว่า กองทัพควรมีหน้าที่การรบในสงครามเพียงประการเดียว หรือ กองทัพควรทำหน้าที่อื่นๆ ที่มิใช่การรบในสงครามเพิ่มเติมด้วย
18. ในยุคสงครามเย็น โครงสร้างกำลังกองทัพและหลักนิยมได้มุ่งเน้นที่ขีดความสามารถด้านการรบและการป้องปรามมิให้เกิดสงคราม เป็นหลัก ชาวอเมริกันบางกลุ่ม มีความเห็นอย่างหนักแน่นว่า กองทัพอเมริกัน ควรมีไว้เพื่อการรบให้ได้ชัยชนะในสงครามของประเทศเท่านั้น และกองทัพควรจะมีการจัดกำลังและยุทโธปกรณ์ และการฝึก สำหรับไว้ทำการรบเท่านั้นด้วย คนกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า การมอบภารกิจอื่นๆที่มิใช่การรบ - เช่น การรักษาสันติภาพ การปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม - จะเป็นการลดขีดความสามารถของกองทัพในการรบเพื่อการป้องกันประเทศ ลดความพร้อมรบ และจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้อง ให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพและต้องการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐฯ
19. อย่างไรก็ตาม ยังมีอเมริกันอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยว่ากองทัพควรมีไว้สำหรับการรบเท่านั้น อเมริกันกลุ่มนี้มีความเห็นว่า กองทัพสหรัฐฯ หลังยุคสงครามเย็น จะต้องมีความอ่อนตัวมากขึ้นในเรื่อง โครงสร้างการจัด อาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึก และแนวความคิดหรือทิศทางในการดำเนินงาน ซึ่ง นอกจากกองทัพจะเตรียมการไว้ทำการรบเพื่อป้องกันประเทศแล้ว ยังจะต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ด้วยการทำงานอื่นๆ ด้วย โดยให้มีขีดความสามารถหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ การสร้างความสัมพันธ์ทางทหาร เพื่อสนับสนุนโครงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาล การปฏิบัติการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และการพัฒนาประเทศ ไปจนถึง การรักษาสันติภาพ การบังคับให้เกิดสันติภาพ และ การรบในความขัดแย้งระดับสูง พวกเขามีความเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ กองทัพสหรัฐฯ จะไม่ต้องทำการรบในสงครามขนาดใหญ่และเนื่องจากประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการทหาร พวกเขาจึงมีความรู้สึกว่า ควรใช้กองทัพให้สมกับเงินที่ต้องใช้ไป โดยเฉพาะเมื่อกองทัพมีขีดความสามารถพร้อม สำหรับให้ผู้ถืออำนาจรัฐ และผู้กำหนดหรือดำเนินนโยบายต่างประเทศ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศได้ เป็นการใช้ยุทธศาสตร์ทหารให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของชาติ นอกเหนือจากการใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ของประเทศ
20. ข้อต่อรองที่สำคัญ คือ การที่ความจำเป็นต้องใช้กองทัพเพื่อการรบมีเหลือน้อยมากแล้ว ยังมีการปฏิวัติกิจการทางทหาร ที่ส่งผลให้อาวุธยุทโธปกรณ์มีความทันสมัย มีความแม่นยำ และมีขีดความสามารถในการทำลายสูง ทำให้ สามารถลดกำลังทหารลงได้เป็นจำนวนมาก หากกองทัพไม่จำเป็นต้องรับภารกิจอื่นนอกเหนือจากการรบแล้ว กองทัพก็จะต้องลดขนาดลง
21. สำหรับกองทัพบกสหรัฐฯ นั้น ก็อยู่ระหว่างการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในยุคสงครามเย็น กองทัพบกสหรัฐฯ ได้เตรียมกำลังขนาดใหญ่ไว้สำหรับการรบทางบกในยุโรปกลาง แต่มิได้ใช้เลยจนกระทั้งสงครามเย็นยุติลง ภายหลังกลับต้องส่งกำลังไปรบในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่มีสถานการณ์และลักษณะพื้นที่ปฏิบัติแตกต่างออกไป บทเรียนคือ กองกำลังขนาดหนัก (Tank Division) ที่เตรียมไว้ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ได้ ในขณะที่กองกำลังขนาดเบา กลับขาดอำนาจการทำลายและความสามารถในการดำรงชีพในสถานการณ์ความขัดแย้งได้
22. กองทัพบกสหรัฐฯ จึงได้ตกลงใจที่จะดำเนินการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ได้กำลังทหารที่สามารถตอบสนองสถานการณ์และปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย เป็นกองกำลังทางยุทธศาสตร์ที่สามารถส่งไปรบได้เมื่อจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันก็มีขีดความสามารถที่จะตอบสนองการร้องขอของมิตรประเทศได้ ทั้งในการปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด หรือ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ขีดความสามารถของกองทัพบกสหรัฐฯ ยังจะต้องสนับสนุนและชดเชยเหล่าทัพอื่นในการปฏิบัติการร่วม และมิตรประเทศในการปฏิบัติการผสมด้วย
23. พลเอกชินเซกิ เสนาธิการทหารบกสหรัฐฯ ได้บรรยายถึงแนวความคิดที่กองทัพบกสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะดำเนินการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนกองทัพบกสู่ศตวรรษที่ 21 โดยใช้โครงสร้างกำลังกองทัพ 3 ประการ เป็นแนวทางในการกำหนดแผน พร้อมทั้งทิศทางและขอบเขตการดำเนินงาน คือ The legacy force, The objective force, และ The interim force รวมทั้งได้อธิบายวิธีการที่จะฝึกกำลังพลและการสร้างผู้นำระดับต่างๆ ของกองทัพในอนาคต ในรายละเอียดน่าจะได้มีการศึกษาแนวความคิดและวิธีการที่สหรัฐฯ ใช้ แม้กองทัพไทยจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษา และการปรับปรุงกองทัพบกไทยให้เหมาะสมต่อไป

MOOTW ของกองทัพไทย

24. เมื่อพิจารณาลักษณะ ขอบเขต และรูปแบบการปฏิบัติการทางทหาร ทั้งการรบในสงคราม กับ การปฏิบัติภารกิจอื่นนอกเหนือจากสงครามในยามสงบแล้ว โดยประเทศที่เจริญแล้ว และมีการพัฒนากองทัพที่ทันสมัย เริ่มจะให้ความสำคัญเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว หลังสงครามเย็นยุติลง ภัยคุกคามจากการรุกรานด้วยกำลังทหารของมีแนวโน้มจะหมดไป การใช้กำลังทหารเพื่อการสงคราม จึงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ภารกิจส่วนใหญ่ที่กำลังทหารได้ถูกนำไปใช้ คือ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัย การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ และการช่วยพัฒนาและสร้างประเทศที่ด้อยพัฒนา การปฏิบัติการเหล่านี้ ถือเป็นการปฏิบัติการในยามสงบ และส่วนใหญ่จะเป็นการปฏิบัติการนอกประเทศ จะมีเฉพาะการบรรเทาสาธารณภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ เท่านั้น ที่เป็นการปฏิบัติภายในประเทศด้วย เมื่อความเสียหายสาหัสเกินกว่าหน่วยงานพลเรือนจะสามารถจัดการได้ ภารกิจเหล่านี้จึงเป็นภารกิจใหม่ ที่กองทัพไม่มีความคุ้นเคย ไม่มีหลักนิยม ไม่มีการเตรียมแผนและความพร้อมไว้ล่วงหน้า ดังนั้น แนวความคิดของประเทศเหล่านี้ จึงมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนการจัดกำลังกองทัพใหม่ ให้สอดคล้องกับภารกิจเหล่านี้ และความต้องการที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ภารกิจอื่นๆ นอกเหนือจากการรบ ที่สถาบันทหารของประเทศที่เจริญแล้ว เข้าไปมีส่วนร่วมมากเป็นพิเศษในขณะนี้ คือ การจัดการกับปัญหายาเสพติด การก่อการร้ายสากล และอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงข้ามชาติ (Transnational Security Threats) ที่ต้องมีการปฏิบัติทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ
25. ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ก็มักจะจำกัดการปฏิบัติการเหล่านี้ภายในประเทศของตน และอาศัยความร่วมมือและช่วยเหลือจากมหาอำนาจในการจัดการต่อปัญหาความมั่นคงข้ามชาติ บางประเทศที่พร้อมมากขึ้น และมีทัศนะที่กว้างไกลกว่า ก็จะใช้กำลังทหารในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ด้วยการส่งไปปฏิบัติการนอกประเทศร่วมกับกองกำลังนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในประชาคมโลก และพลังอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของตนเอง กับทั้งเป็นการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ทั้งขวัญกำลังใจ สวัสดิการ และประสบการณ์ให้กับกำลังพล ให้มีความพร้อมรบตลอดเวลาได้อีกด้วย
26. สำหรับกองทัพไทยนั้น ได้ปฏิบัติภารกิจบางประการเหล่านี้มานานแล้ว โดยเฉพาะการช่วยพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน การบรรเทาสาธารณภัยและการกู้ภัยพิบัติที่รุนแรง รวมทั้งการใช้กำลังทหารในการรักษาความมั่นคงภายใน และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เมื่อได้รับการร้องขอจากส่วนราชการพลเรือน หรือได้รับมอบหมายจากรัฐ มีภารกิจหลายประการที่กองทัพคุ้นเคย มีแนวทาง และแผนการปฏิบัติ อันที่เป็นที่ยอมรับว่า ดีและใช้ได้ จนประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น การใช้กำลังทหารในการช่วยพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน ประกอบกับการปฏิบัติการจิตวิทยา และการใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร เพื่อเอาชนะใจราษฎรชาวไทยทุกฝ่ายที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ให้หันกลับมาร่วมช่วยกันพัฒนาชาติไทย หรือที่เรียกว่า การปฏิบัติการตาม "Hearts and Minds Program" รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน ให้ได้มีโอกาสพัฒนาและสามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีพออยู่พอกิน ตามโครงการพระราชดำริต่างๆ ซึ่งกองทัพไทยได้นำแนวทางและประสบการณ์เหล่านี้ ไปใช้ในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ที่ติมอร์ตะวันออกด้วย และประสบความสำเร็จอย่างสูง
27. อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทัพไทยจะมีประสบการณ์อยู่บ้างในภารกิจเหล่านี้ และมีการจัดหน่วยไว้โดยเฉพาะ เช่น กองพลพัฒนา เป็นต้น แต่การปฏิบัติที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดพอสมควร เช่น การจัดตั้งหน่วยสำหรับการช่วยเหลือพัฒนาประเทศเหล่านี้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และการขาดแคลนยุทโธปกรณ์และงบประมาณ เป็นต้น ในหลายภารกิจกองทัพจำเป็นต้องใช้ส่วนกำลังรบ ซึ่งจะทำให้ภารกิจการเตรียมกำลังและการใช้กำลังในการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจหลัก ขาดตกบกพร่อง ทำให้ขาดความพร้อมรบได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมือง พลเรือน และทหาร และปัญหางบประมาณ ที่ทำให้กองทัพต้องจำกัดบทบาทตนเอง ในการรักษาความมั่นคงภายในและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศลงไป ซึ่งขีดความสามารถและความพร้อมในภารกิจ 2 ประการนี้ เมื่อจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการ จะลดลงด้วย โดยเฉพาะในการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ และกองทัพได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในขณะนี้
28. แม้กองทัพจะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการกิจอื่นนอกเหนือจาการรบเพื่อการป้องกันประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติด้วย เพราะภารกิจเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว และที่สำคัญที่สุด คือ เป็นพระราชกระแสรับสั่งของพรบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จอมทัพไทย ที่พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาและทหารหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ การช่วยเหลือ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ และการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่กองทัพต้องใช้ขีดความสามารถทั้งสิ้นที่มีอยู่แล้ว ในการปฏิบัติภารกิจเหล่านี้อย่างเต็มที่ ส่วนในภารกิจอื่นๆ ในยามสงบนั้น กองทัพต้องติดตามสถานการณ์โดยต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีศักยภาพและแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของของชาติ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
29. การใช้พลังอำนาจทางทหาร อันเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ ในยามสงบนั้น ทหารไม่อาจปล่อยให้นักการเมืองคิดและใช้ได้อย่างตามอำเภอใจ หรือใช้โดยไม่มีความรู้ความสามารถในการใช้ จึงเป็นการสมควรที่จะต้องเฝ้าดูและตรวจสอบ เพื่อป้องกันมิให้นักการเมืองละเลยกำลังทหาร หรือใช้กำลังทหารอย่างไม่ถูกต้อง ในยามสงคราม นักการเมืองเคยกล่าวว่า ไม่สมควรปล่อยให้ท่านนายพลทำการรบตามความอำเภอใจ ต้องมีฝ่ายการเมืองควบคุม ในทางกลับกัน ในยามสงบ ก็ไม่ควรปล่อยนักการเมืองทำการปกครองประเทศ พัฒนาประเทศ และจัดการกับปัญหาความมั่นคงต่างๆ ตามความต้องการของตนเองได้เช่นกัน ต้องมีการควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้ประเทศชาติและภูมิภาคมีความสงบเรียบร้อยต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาตินั้น ทหารควรเข้าไปเกี่ยวข้อง แสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วม และให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ตามความสามารถที่มีอยู่และขอบเขตที่เหมาะสม ตามคำกล่าวของ Dr. William Perry อดีตรัฐมนตรีว่าการกลาโหมสหรัฐฯ ว่า "Some have said that war is too important to be left solely to the generals. Preventive defense says peace is too important to be left solely to the politicians." แนวความคิดพื้นฐานคือ การใช้การทูตเชิงป้องกัน ในยามสงบ เพื่อการดำรงรักษาสันติภาพและความสงบไว้ นับเป็นการป้องกันประเทศที่สำคัญที่สุด ที่ไม่ควรปล่อยให้นักการเมืองดำเนินการโดยลำพัง และจะต้องมีการใช้กำลังทหารในฐานะเครื่องมือของรัฐ อย่างเหมาะสม ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อป้องกันมิให้เกิดสงคราม และการใช้กำลังทหารในที่สุด
30. กองทัพบกไทย ต้องคิดไว้เช่นกันว่า ในศตวรรษข้างหน้านี้ การใช้กำลังทหาร ในฐานะเครื่องมือของรัฐ จะมีลักษณะและรูปแบบ เช่นใด และทำอย่างไร กองทัพบกจึงจะปรับตัวเอง ทั้งในด้านโครงสร้างกำลัง หลักนิยม การฝึกศึกษาและการซ้อมรบ ให้เหมาะสม สามารถตอบสนองสถานการณ์ทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
บทความ พันเอก ธิวา เพ็ญเขตกรณ์

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

บทความ

บทความน่ารู้

    1. เครื่องหมายยศทหารไทย (รายละเอียด)
    2. พรบ.การกระทำผิดด้านคอมพิวเตอร์ (รายละเอียด)
    3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (รายละเอียด)
    4. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทหาร(รายละเอียด)

วินัยทหาร และการลงทัณฑ์

มาตรา ๔ วินัยทหารนั้นคือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหารมาตรา ๕ วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษา โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร มีดังต่อไปนี้
๑.) ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เหนือตน
๒.) ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
๓.) ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
๔.) ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
๕.) เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
๖.) กล่าวคำเท็จ
๗.) ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
๘.) ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดตามโทษานุโทษ
๙.) เสพเครื่องดองของเมาจนเสียกิริยา
มาตรา ๖ ผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่จัดการระวังรักษาวินัยทหารที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่นั้น โดยการกวดขัน ถ้าหากว่าในการรักษาวินัยทหารนั้น จำเป็นต้องใช้อาวุธ เพื่อทำการปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบก็ดี หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตนก็ดี ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่ช่วยเหลือในการนั้นจะไม่ต้องรับโทษ ในการที่ตนได้กระทำไป โดยความจำเป็นนั้นเลย แต่เมื่อมีเหตุดั่งกล่าวนี้ ผู้บังคับบัญชา จักต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน และรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมโดยเร็ว มาตรา ๗ ทหารใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฎในหมวด อำนาจลงทัณฑ์ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหาร

อำนาจการลงทัณฑ์

มาตรา ๘ ทัณฑ์ที่จะลงโทษแก่ผู้ที่กระทำผิดต่อวินัยทหาร นั้น ให้มีกำหนดเป็น ๕ สถาน คือ
๑.) ภาคทัณฑ์
๒.) ทัณฑกรรม
๓.) กัก
๔.) ขัง
๕.) จำขัง
มาตรา ๙ ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดดั่งกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปรานี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฎหรือให้ทำทัณฑ์บนไว้ ทัณฑกรรมนั้นให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนด ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคน แล้วแต่จะได้มีคำสั่ง จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหารนอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้นี้ ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด
มาตรา ๑๐ ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาซึ่งลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดได้นั้น คือ
(๑) ผู้บังคับบัญชา หรือ
(๒) ผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้บังคับบัญชาตามที่กระทรวงกลาโหม ส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพ-อากาศกำหนด

วันศุกร์ที่ 6 มีนาคม พ.ศ. 2552


- สำเนา -
ครุฑ
ระเบียบกระทรวงกลาโหม
ว่าด้วยการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม
พ.ศ.๒๕๓๖

-----------------------

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดให้การดำเนินการวิจัยและพัฒนาการทหาร ของ กระทรวงกลาโหม เป็นไปอย่างมีเอกภาพ เป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้.-
ข้อ ๑. ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยการวิจัยและพัฒนาการทหาร ของกระทรวงกลาโหม พ.ศ.๒๕๓๖"
ข้อ ๒. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข้อ ๓. บรรดาระเบียบและคำสั่งอื่นใด ที่ขัดหรือแย้งกับระเบียบนี้ ให้ใช้ระเบียบนี้แทน
ข้อ ๔. ให้ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม รักษาการตามระเบียบนี้
หมวด ๑
นิยาม
ข้อ ๕. ในระเบียบนี้
๕.๑ " การวิจัย " หมายความว่า การค้นคว้าโดยการทดลอง สำรวจ หรือการศึกษา ตามหลักสูตรวิชาการ เพื่อให้ได้ข้อมูล ความรู้ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการต่าง ๆ อันจะ สามารถนำมาใช้เป็นประโยชน์ในทางทหาร เศรษฐกิจ สังคม วิชาการ หรือเป็นพื้นฐานของการพัฒนา ประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไป
๕.๒ " การพัฒนา " หมายความว่า การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
มาใช้อย่างมีระเบียบแบบแผน เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์อันมีประโยชน์ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนองความต้องการในการปฏิบัติงาน ทั้งในด้านวัตถุและมิใช่วัตถุ
๕.๓ " การวิจัยและพัฒนาการทหาร " หมายความว่า การวิจัยและพัฒนา ที่มีความ มุ่งหมายเพื่อสนองความต้องการทางทหาร หรือเกี่ยวข้องกับการทหาร ดำเนินการโดยอาศัยวิธีการทาง วิทยาศาสตร์และเทคนิคต่าง ๆ เป็นหลักปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การวิจัยขั้นมูลฐานเกี่ยวกับปรากฏการณ์ธรรมชาติ ไปจนถึงการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อคัดเลือก สร้างสรรค์ หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ ที่เป็นประโยชน์ แล้วนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้น ตลอดจนระบบต่าง ๆ มาทำการทดสอบ รวมทั้งการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน
เพื่อการวิจัยและพัฒนาการทหาร

๕.๔ " แผนงานวิจัย " หมายความว่า แผนหลักของการวิจัยและพัฒนาการทหาร ของกระทรวงกลาโหม ที่มีจุดหมายอย่างกว้าง ที่จะดำเนินงานให้สำเร็จลุล่วงตามนโยบายและเป้าหมาย
การวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม ประกอบด้วยงานหรือโครงการ ซึ่งจะเป็นส่วนช่วยให้
แผนงานวิจัยบรรลุเป้าหมายที่กำหนดไว้
๕.๕ " โครงการวิจัย " หมายความว่า โครงการวิจัยและพัฒนาการทหารตามแผน งานวิจัย ที่มีลักษณะพิเศษต่างไปจากโครงการปกติ โดยมีวัตถุประสงค์เฉพาะ มีแผนการดำเนินงานเป็น ขั้นตอนมีระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดที่แน่นอน มีการกำหนดการใช้ทรัพยากรตามขั้นตอนอย่างเหมาะสม และมีการคาดหมายผลงานที่จะได้รับจากการดำเนินงานนั้น โครงการวิจัยมี ๒ ประเภท คือ
๕.๕.๑ โครงการวิจัยประเภททั่วไป คือ โครงการวิจัยที่ต้องเสนอขออนุมัติ หลักการและวงเงินงบประมาณเป็นการล่วงหน้า ก่อนการดำเนินการจริงประมาณ ๒ ปี
๕.๕.๒ โครงการวิจัยประเภทเร่งด่วน คือ โครงการวิจัยที่มีความจำเป็นต้อง รีบดำเนินการ เพื่อตอบสนองภารกิจสำคัญของกระทรวงกลาโหม และไม่สามารถดำเนินการตามกำหนด เวลาปกติได้ หากไม่รีบดำเนินการจะส่งผลเสียหายต่อความมั่นคงของชาติ หรือกระทบกระเทือนต่อการ ปฏิบัติการทางทหาร โครงการวิจัยประเภทเร่งด่วนสามารถเสนอคำขอได้ทุกโอกาส
๕.๖ " ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย " หมายความว่า นายทหารชั้นสัญญาบัตร ที่มีหน้าที่ ประสานงาน กำกับดูแล รับผิดชอบการจัดทำ และการดำเนินงานโครงการ ในแผนงานวิจัย
๕.๗ " ผู้อำนวยการโครงการวิจัย " หมายความว่า นายทหารชั้นสัญญาบัตร ที่มีหน้าที่ รับผิดชอบการดำเนินงานโครงการวิจัย ที่จำเป็นต้องประสานความร่วมมือจากหลายฝ่าย
๕.๘ " นายทหารโครงการ " หมายความว่า ข้าราชการชั้นสัญญาบัตรสังกัด กระทรวงกลาโหม ที่ได้รับการแต่งตั้งให้รับผิดชอบและดำเนินงานการวิจัย ตามโครงการวิจัยและพัฒนาการ ทหาร เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์
๕.๙ " กำลังพลทางการวิจัย " หมายความว่า ผู้ที่ปฏิบัติงานเกี่ยวข้องโดยตรงกับการ วิจัยและพัฒนาการทหาร แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ
๕.๙.๑ " ผู้บริหารการวิจัย " คือ ผู้รับผิดชอบในการบริหารงานวิจัย หรือ ผู้อำนวยการแผนงานวิจัย หรือผู้อำนวยการโครงการวิจัย ซึ่งทำหน้าที่อำนวยการและรับผิดชอบการดำเนินงาน โครงการวิจัย
๕.๙.๒ " ที่ปรึกษาการวิจัย " คือ นักวิชาการ หรือ ผู้ชำนาญการเฉพาะด้าน
ที่ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแนะนำในเรื่อง การพัฒนานโยบายและเป้าหมายการวิจัย หรือการดำเนินงานโครงการวิจัย และพัฒนาการทหาร
๕.๙.๓ " นักวิจัย " คือ ผู้ทำหน้าที่ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการทหาร

๕.๙.๔ " ผู้ช่วยนักวิจัย " คือ ผู้ทำหน้าที่ช่วยเหลือนักวิจัยในการปฏิบัติ
การวิจัยและพัฒนาการทหารทางด้านเทคนิค
๕.๑๐ " หน่วยงานวิจัย " หมายความว่า หน่วยงานที่มีภารกิจหลักทางการวิจัยและ พัฒนา ด้านอำนวยการ หรือด้านปฏิบัติการวิจัยและพัฒนา
๕.๑๑ " หน่วยเกี่ยวข้องการวิจัย " หมายความว่า หน่วยงานที่ไม่มีภารกิจหลักทาง
การวิจัยและพัฒนา แต่มีขีดความสามารถด้านอำนวยการหรือด้านปฏิบัติการวิจัย
๕.๑๒ " หน่วยเจ้าของโครงการ " หมายความว่า หน่วยที่จัดทำและเสนอคำขอ โครงการวิจัยและพัฒนาการทหาร
๕.๑๓ " หน่วยดำเนินการวิจัย " หมายความว่า หน่วยงานวิจัย หรือ หน่วยเกี่ยวข้อง การวิจัย ที่ดำเนินการวิจัยและพัฒนา
๕.๑๔ " หน่วยเสนอความต้องการ " หมายความว่า หน่วยหรือบุคคล ที่เสนอความ ต้องการใช้ผลงานการวิจัย แต่มิได้ดำเนินการเอง

หมวด ๒
นโยบาย เป้าหมาย และ หลักการทั่วไป

ข้อ ๖. นโยบายการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม ให้เป็นไปตาม นโยบายความมั่นคงแห่งชาติด้านการป้องกันประเทศ และนโยบายด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ของชาติ โดยคำนึงถึงภัยคุกคาม ยุทธศาสตร์ ยุทธวิธี และสภาวะเศรษฐกิจของประเทศ นโยบายการวิจัย
และพัฒนาการทหารจะกำหนดระยะ ๕ ปี และระบุไว้ในนโยบายการทหาร ของกระทรวงกลาโหม
ข้อ ๗. เป้าหมายการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม จะต้องสอดคล้อง
กับนโยบายการวิจัยและพัฒนาการทหาร ของกระทรวงกลาโหม และจะต้องระบุแผนงาน และโครงการ
ในแต่ละแผนงาน เป้าหมายการวิจัยจะต้องมีการปรับปรุง ทบทวนตามระยะเวลาที่เหมาะสม
ข้อ ๘. หลักการทั่วไปในการบริหารงานวิจัยและพัฒนาการทหาร ของกระทรวงกลาโหม คือ รวมการด้านนโยบายและงบประมาณ ในระดับกระทรวงกลาโหม แยกการด้านปฏิบัติ ในระดับ
สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
ข้อ ๙. ขอบเขตของงานวิจัยและพัฒนาการทหาร ของกระทรวงกลาโหม ประกอบ
ด้วยงาน สำคัญ ๔ สาขา คือ งานด้านนโยบายและเป้าหมายการวิจัย งานวิจัยและการบริหารโครงการวิจัย งานพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย และงานขยายผลการวิจัย
ข้อ ๑๐. คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม รับผิดชอบการ จัดทำนโยบายและเป้าหมายการวิจัยของกระทรวงกลาโหม โดยมีสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหาร กลาโหม ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ

หมวด ๓
องค์กรทางการวิจัยและพัฒนาการทหาร

ข้อ ๑๑. องค์กรทางการวิจัยและพัฒนาการทหาร มี ๒ รูปแบบ คือ รูปแบบคณะกรรมการ และรูปแบบหน่วยงาน
ข้อ ๑๒. การจัดองค์กรทางการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม มี ๒ ระดับ คือ
๑๒.๑ ระดับกระทรวงกลาโหม ทำหน้าที่อำนวยการให้เป็นไปตามหลักการ
รวมการด้านนโยบายและงบประมาณ และแยกการด้านปฏิบัติ
๑๒.๒ ระดับหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม และกองทัพบก กองทัพเรือ
กองทัพอากาศ ทำหน้าที่ปฏิบัติการวิจัยพัฒนา และหรืออำนวยการวิจัยในหน่วยตน
ข้อ ๑๓. คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม เป็นองค์กรรับ
ผิดชอบการบริหารงานวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม เป็นส่วนรวม มีรองปลัดกระทรวง กลาโหม สายงานยุทธการ เป็นประธาน รองเสนาธิการทหารสายงานยุทธการ เป็นรองประธาน กรรมการ ประกอบด้วย รองเสนาธิการทหารบกสายงานยุทธการ รองเสนาธิการทหารเรือ รองเสนาธิการทหาร อากาศสายงานยุทธการ หัวหน้าหน่วยงานวิจัยและหน่วยเกี่ยวข้องการวิจัย จากสำนักงานปลัดกระทรวง กลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ โดยมีสำนักงานวิจัย
และพัฒนาการทหารกลาโหม ทำหน้าที่เป็นฝ่ายเลขานุการ คณะกรรมการนี้ มีอนุกรรมการสาขาต่าง ๆ ช่วยเหลือการดำเนินงานได้ตามความจำเป็น
ข้อ ๑๔. สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ทำหน้าที่ประสานงานวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับส่วนราชการทั้งในและนอกกระทรวงกลาโหม ตลอดจนภาคเอกชนและ
ต่างประเทศ และอำนวยการ กำกับดูแล การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม
ข้อ ๑๕. การประสานงานวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในกระทรวงกลาโหม หน่วยเจ้าของโครงการ หน่วยดำเนินการวิจัย และหน่วยเกี่ยวข้องการวิจัย ประสานกับสำนักงานวิจัยและ พัฒนาการทหารกลาโหม ผ่านทางหน่วยงานวิจัยที่มีภารกิจหลักทางด้านอำนวยการ ของกองบัญชาการ ทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพอากาศ

หมวด ๔
การวิจัยและการบริหารโครงการวิจัย

ข้อ ๑๖. หน่วยเจ้าของโครงการวิจัยในหน่วยขึ้นตรงกระทรวงกลาโหม เว้นกองบัญชาการ ทหารสูงสุด เสนอคำขอโครงการวิจัยประเภททั่วไป และโครงการวิจัยประเภทเร่งด่วน ต่อสำนักงานวิจัย
และพัฒนาการทหารกลาโหม ส่วนหน่วยเจ้าของโครงการวิจัยในกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือและกองทัพอากาศ จะต้องเสนอคำขอโครงการวิจัยทั้ง ๒ ประเภท ต่อสำนักงานวิจัยและ พัฒนาการทหารกลาโหม ผ่านสายการประสานงานวิจัยของหน่วย
ข้อ ๑๗. คำขอโครงการวิจัยทั้ง ๒ ประเภท ให้เป็นไปตามแบบที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการ ทหารกลาโหม กำหนด คำขอโครงการวิจัยประเภททั่วไป จะต้องส่งถึงสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหาร กลาโหม ภายในเดือนมกราคมของทุกปี ส่วนคำขอโครงการวิจัยประเภทเร่งด่วน ให้เสนอสำนักงานวิจัย และพัฒนาการทหารกลาโหม ได้ทุกโอกาส
ข้อ ๑๘. คำขอโครงการวิจัย จะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายการวิจัยของ กระทรวงกลาโหม และต้องได้รับความเห็นชอบจากสายวิทยาการที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งระบุหน่วยเสนอ ความต้องการ
ข้อ ๑๙. การดำเนินงานโครงการวิจัยทุกโครงการ หน่วยเจ้าของโครงการวิจัย หรือ หน่วย ดำเนินการวิจัย ต้องแต่งตั้งนายทหารโครงการรับผิดชอบ เว้นโครงการวิจัยขนาดใหญ่ ที่ต้องร่วมมือดำเนินงาน กับบุคคลหรือหน่วยงานหลายฝ่าย ให้แต่งตั้งผู้อำนวยการแผนงานวิจัย หรือ ผู้อำนวยการโครงการวิจัย ตามความเหมาะสม
ข้อ ๒๐. คณะกรรมการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม พิจารณาให้ความ เห็นชอบโครงการและงบประมาณการวิจัย ที่ผ่านการพิจารณากลั่นกรองจากคณะอนุกรรมการบริหารงานวิจัย และพัฒนาการทหารกลาโหม แล้วเสนอขออนุมัติโครงการและงบประมาณ จากรัฐมนตรีว่าการ กระทรวงกลาโหม ภายในเดือนสิงหาคมของทุกปี
ข้อ ๒๑. การดำเนินงานโครงการวิจัยอาจทำได้โดย หน่วยเจ้าของโครงการวิจัย หรือหน่วย
ดำเนินการวิจัย ดำเนินงานเองทั้งหมด หรือแบ่งมอบงานบางส่วนหรือทั้งหมดให้บุคคลหรือหน่วยงานอื่น
ทั้งฝ่ายทหาร ฝ่ายพลเรือน หรือเอกชน ดำเนินงาน
ข้อ ๒๒. หน่วยเจ้าของโครงการวิจัย หรือ หน่วยดำเนินการวิจัย
๒๒.๑ เตรียมการดำเนินงานโครงการวิจัยได้ นับแต่โครงการได้รับอนุมัติจาก
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม และเริ่มดำเนินงานได้ทันที เมื่อได้รับการจัดสรรงบประมาณสนับสนุน
๒๒.๒ รายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานโครงการวิจัย ผ่านสายการประสานงาน ต่อสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ทุกห้วงระยะเวลา ๔ เดือน ตามงวดงบประมาณ ตามแบบที่ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหมกำหนด ส่วนการรายงานการใช้จ่ายงบประมาณโครงการวิจัย ให้ปฏิบัติตามระเบียบสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ว่าด้วยเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา
การทหาร

๒๒.๓ แจ้งสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ผ่านสายการประสานงาน ให้เข้าร่วมสังเกตการณ์ ในการทดสอบหรือประเมินค่า ผลการดำเนินงานวิจัยทุกขั้นตอนที่สำคัญ
๒๒.๔ ให้ความร่วมมือกับคณะอนุกรรมการวัดผลและประเมินผลโครงการวิจัย พัฒนาในการติดตามความก้าวหน้าของโครงการ
๒๒.๕ แจ้งสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ผ่านสายการประสานงาน หากมีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญ จากคำขอโครงการวิจัยที่ได้รับอนุมัติ
๒๒.๖ รายงานขออนุมัติปิดโครงการ ต่อสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ผ่านสายการประสานงาน เมื่อดำเนินงานโครงการวิจัยเสร็จสิ้นสมบูรณ์ พร้อมกับเอกสารการวิจัย และหรือ ผลงานต้นแบบ หรือหุ่นจำลอง ตามแบบที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหมกำหนด
๒๒.๗ รายงานขอปิดโครงการวิจัยต่อสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ผ่านสายการประสานงาน ในกรณีที่โครงการยังไม่เสร็จสมบูรณ์ แต่จำเป็นต้องยุติการดำเนินงาน พร้อมกับ เอกสารการวิจัย และหรือผลงานต้นแบบ หรือหุ่นจำลอง ผลงานที่ได้ดำเนินการไปแล้ว
ข้อ ๒๓. สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม รับผิดชอบกลั่นกรองคำขอโครงการวิจัย จัดสรรงบประมาณโครงการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม และวัดผลประเมินผลการ ดำเนินงานโครงการวิจัย

หมวด ๕
โครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย

ข้อ ๒๔. โครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย หมายความว่า กำลังพลทางการวิจัย และเทคโนโลยี ทางการวิจัย ที่สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการทหาร ให้บรรลุเป้าหมายและนโยบายการวิจัย ของกระทรวงกลาโหม
ข้อ ๒๕. กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ สามารถ พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยในส่วนของตน ได้ตามความเหมาะสม โดยให้จัดทำในรูปของคำขอโครงการวิจัย
ข้อ ๒๖. สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม ดำเนินการให้มีการพัฒนาโครงสร้าง พื้นฐานทางการวิจัย ทั้งด้านกำลังพลและเทคโนโลยีทางการวิจัย เป็นส่วนรวม ดังนี้
๒๖.๑ กำหนดทิศทางและแผนพัฒนากำลังพลทางการวิจัย และเทคโนโลยีทางการวิจัย
๒๖.๒ พัฒนากำลังพลทางการวิจัยเป็นส่วนรวม โดยส่งเสริมสนับสนุนให้ทุนการ
ศึกษา ฝึกอบรม ดูงาน สัมมนา ประชุมทางวิชาการ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์และ เทคโนโลยี ทั้งในและนอกประเทศ


๒๖.๓ อนุรักษ์กำลังพลทางการวิจัย โดยส่งเสริมให้มีสภาพการทำงานที่ดี
มีความมั่นคงก้าวหน้าในการปฏิบัติงานวิจัย กับให้ได้รับผลประโยชน์และสิทธิพิเศษทางกำลังพล
๒๖.๔ พัฒนาศูนย์ข้อมูลทางการวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อ สนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม
๒๖.๕ ดำเนินการให้มีการจัดหา และการถ่ายทอดเทคโนโลยีทางการวิจัยที่เหมาะสม จากในและนอกประเทศ กับส่งเสริมให้มีการนำไปใช้ประโยชน์ ในการดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการทหาร อย่างแท้จริง
๒๖.๖ สร้างกลไกประกันคุณภาพผลงานวิจัย ด้วยมาตรการกำกับดูแล แผนงาน หรือโครงการวิจัยทุกขั้นตอน เริ่มด้วยการกลั่นกรองวิเคราะห์คำขอโครงการวิจัย การวัดผลและประเมินผล การดำเนินงาน การทดสอบและประเมินค่า และการรายงานผลการวิจัย
๒๖.๗ พัฒนาขีดความสามารถทางเทคโนโลยีเฉพาะด้าน แก่กำลังพลทางการวิจัย
๒๖.๘ ส่งเสริมให้มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ในการ ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการทหาร

หมวด ๖
การขยายผลการวิจัย

ข้อ ๒๗ การขยายผลการวิจัย หมายความว่า การดำเนินการต่อผลงานการวิจัยในเรื่องการ รับรองมาตรฐาน การผลิต การบรรจุใช้ในราชการ การผลิตเพื่อขายทั้งในและนอกประเทศ และการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์
ข้อ ๒๘ กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ
ดำเนินการให้มีการรับรองมาตรฐานผลงานวิจัยของตน ที่สมควรผลิตเพื่อบรรจุใช้ในราชการ และดำเนินการ เผยแพร่ประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัย ตามความเหมาะสม โดยประสานกับสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหาร กลาโหม
ข้อ ๒๙ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม
๒๙.๑ ดำเนินการให้มีการรับรองมาตรฐานผลงานการวิจัย จากคณะกรรมการ กำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์กระทรวงกลาโหม แล้วส่งเสริมให้มี การผลิต การบรรจุใช้ในราชการ และ การผลิตเพื่อขายทั้งในและนอกประเทศ
๒๙.๒ ดำเนินการ หรือร่วมดำเนินการ กับกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ ให้มีการสาธิต นิทรรศการ และเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ ผลงานการวิจัย หรือกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยพัฒนา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
๒๙.๓ เป็นเจ้าของและดูแลรับผิดชอบ กรรมสิทธิในผลงานวิจัย ที่ใช้
งบประมาณของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม รวมทั้งผลประโยชน์อื่นใดที่พึงได้จากกรรมสิทธิ์นั้น

หมวด ๗
บทเบ็ดเสร็จ

ข้อ ๓๐ งบประมาณการวิจัยและพัฒนาการทหาร หมายความว่า เงินงบประมาณหมวด เงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหารของสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม แบ่งเป็น เงินอุดหนุนการ ส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร กับเงินอุดหนุนโครงการวิจัยและพัฒนาการทหาร
ข้อ ๓๑ เงินอุดหนุนการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร หมายรวมถึง งบประมาณเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางการวิจัย และงบประมาณเพื่อการขยายผลทางการวิจัย
ข้อ ๓๒ การกำหนดเกี่ยวกับสิทธิพิเศษทางกำลังพล การให้ผลประโยชน์ตอบแทนจาก ผลงานการวิจัย แก่กำลังพลทางการวิจัย ให้จัดทำเป็นคำสั่ง ระเบียบ หรือ ข้อบังคับ
ข้อ ๓๓ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และกองทัพอากาศ กำหนดระเบียบปฏิบัติภายในที่ไม่ขัดต่อระเบียบนี้ได้ และให้ส่งสำเนาให้ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหมทราบภายใน ๑๕ วัน นับแต่วันมีผลใช้บังคับ
ประกาศ ณ วันที่ ๑๗ สิงหาคม พ.ศ.๒๕๓๖

(ลงชื่อ) พล.อ.วิจิตร สุขมาก
(วิจิตร สุขมาก)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
หมายเหตุ เหตุผลในการประกาศใช้ระเบียบฉบับนี้ คือ สืบเนื่องจากกระทรวงกลาโหม ได้ยกระดับการ บริหารงานวิจัยและพัฒนาการทหาร จากเดิมดำเนินการในระดับกองบัญชาการทหารสูงสุด มาเป็นระดับ กระทรวงกลาโหม ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงระบบการบริหารงานวิจัยและพัฒนาการทหาร ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้มีหลักเกณฑ์และวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม เป็นส่วนรวม และปฏิบัติไปในแนวทางเดียวกันทุกส่วนราชการ กับเพื่อให้การดำเนินงานวิจัยและพัฒนาการทหารของ ส่วนราชการ ในสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม กองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพบก กองทัพเรือ และ
กองทัพอากาศ เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ได้ผลสมความมุ่งหมายของทางราชการ จึงจำเป็นต้องออก ระเบียบนี

- สำเนา -
ครุฑ
ที่ กค ๐๕๐๒/๕๙๗๑๘ กระทรวงการคลัง
ถนนพระรามที่ ๖ กท ๑๐๔๐๐
๑๕ ธันวาคม ๒๕๓๕

เรื่อง การกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร
เรียน ปลัดกระทรวงกลาโหม
อ้างถึง หนังสือกระทรวงกลาโหม ที่ กห ๐๒๐๓/๑๖๖๕ ลงวันที่ ๑๕ ตุลาคม ๒๕๓๕
ตามที่แจ้งว่า ในปีงบประมาณ ๒๕๓๖ สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม กระทรวงกลาโหม ได้รับงบประมาณโครงการวิจัยและพัฒนาการทหาร แผนงานบริหารทั่วไปงานวิจัย และพัฒนาการทหาร หมวดเงินอุดหนุน และเพื่อให้การปฏิบัติเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนการวิจัย และพัฒนาการทหารเป็นไปในแนวเดียวกัน จึงกำหนดระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินอุดหนุน การวิจัยและพัฒนาการทหารเพื่อควบคุมการใช้จ่าย จึงหารือว่ากระทรวงกลาโหมจะกำหนดระเบียบ ดังกล่าวได้โดยไม่ต้องขออนุมัติกระทรวงการคลังใช่หรือไม่ความละเอียดแจ้งแล้ว นั้น
กระทรวงการคลังพิจารณาแล้ว ขอเรียนว่า เงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร ดังกล่าว เป็นเงินที่สำนักงบประมาณจัดสรรให้ในลักษณะเป็นเงินอุดหนุนทั่วไป การใช้จ่ายเงิน งบประมาณ หมวดเงินอุดหนุนทั่วไป กระทรวงกลาโหมสามารถเบิกจ่ายได้ตามวัตถุประสงค์ที่ขอตั้ง งบประมาณไว้ และชอบที่จะกำหนดระเบียบภายในเพื่อควบคุมการใช้จ่ายได้เอง โดยมิต้องขออนุมัติ กระทรวงการคลัง
จึงเรียนมาเพื่อโปรดทราบ

ขอแสดงความนับถือ

(ลงชื่อ) ทวีเกียรติ กฤษณามระ
รองปลัดกระทรวงฯ ปฏิบัติราชการแทน
ปลัดกระทรวงการคลัง

- สำเนา -
ครุฑ
ระเบียบกระทรวงกลาโหม
ว่าด้วยเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร
พ.ศ.๒๕๓๖
---------------------------------------------------

โดยที่เป็นการสมควรกำหนดระเบียบเกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการ ทหารของกระทรวงกลาโหม จึงวางระเบียบไว้ดังต่อไปนี้
ข้อ ๑ ระเบียบนี้เรียกว่า "ระเบียบกระทรวงกลาโหมว่าด้วยเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการ ทหาร พ.ศ.๒๕๓๖"
ข้อ ๒ ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ.๒๕๓๖ เป็นต้นไป
ข้อ ๓ ในระเบียบนี้
๓.๑ "เงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร" หมายความว่าเงินงบประมาณหมวด เงินอุดหนุน ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดินตามพระราชบัญญัติ งบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมเพื่อใช้จ่ายในการวิจัย การพัฒนา และการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร
๓.๒ "การวิจัย" หมายความว่า การค้นคว้าโดยการทดลอง สำรวจ หรือการศึกษา ตามหลักวิชาการ เพื่อให้ได้ข้อมูล ความรู้ รวมทั้งการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการ ต่าง ๆ อันจะสามารถ นำมาใช้เป็นประโยชน์ในทางทหาร เศรษฐกิจ สังคม วิชาการ หรือเป็นพื้นฐานของการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ต่อไป
๓.๓. "การพัฒนา" หมายความว่า การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์มาใช้อย่างมีระเบียบ แบบแผน เพื่อให้สามารถสร้างสรรค์อันมีประโยชน์หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ให้ดียิ่งขึ้น เพื่อสนองความ ต้องการในการปฏิบัติงาน ทั้งในด้านวัตถุและมิใช่วัตถุ
๓.๔ "การวิจัยและพัฒนาการทหาร" หมายความว่า การวิจัยและพัฒนาที่มีความมุ่ง หมายเพื่อสนองความต้องการทางทหาร หรือเกี่ยวข้องกับทางทหาร ดำเนินการโดยอาศัยวิธีการทาง วิทยาศาสตร์และเทคนิคต่าง ๆ เป็นหลักปฏิบัติ เริ่มตั้งแต่การวิจัยขั้นมูลฐานเกี่ยวกับปรากฎการณ์
ทางธรรมชาติไปจนถึงการใช้ความรู้ทางวิทยาศาสตร์เพื่อคัดเลือก สร้างสรรค์หรือปรับปรุงผลิตภัณฑ์ที่เป็น ประโยชน์แล้วนำผลิตภัณฑ์เหล่านั้นตลอดจนระบบต่าง ๆ มาทำการทดสอบรวมทั้งการจัดทำโครงสร้าง
พื้นฐานเพื่อการวิจัยและพัฒนาการทหาร
๓.๕ "หน่วยเจ้าของงบประมาณ" หมายความว่า สำนักงานงานวิจัยและพัฒนาการ ทหารกลาโหม ซึ่งได้รับจัดสรรงบประมาณเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหารจากสำนักงาน ปลัดกระทรวงกลาโหม มีหน้าที่จัดทำและบริหารงบประมาณ กำกับดูแล วิเคราะห์ ประเมินผล และ รายงานการใช้งบประมาณต่อสำนักงบประมาณกลาโหมตามระเบียบที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
/๓.๖ "หน่วยเจ้าของโครงการ"

๓.๖ "หน่วยเจ้าของโครงการ" หมายความว่า หน่วยที่จัดทำและเสนอคำขอ โครงการวิจัยและพัฒนาการทหาร และได้รับเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหารจากสำนักงานวิจัย และพัฒนาการทหารกลาโหม
ข้อ ๔ เงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร ประกอบด้วย
๔.๑ เงินอุดหนุนการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร
๔.๒ เงินอุดหนุนโครงการวิจัยและพัฒนาการทหาร
ข้อ ๕ เงินอุดหนุนการส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนาการทหารเป็นเงินอุดหนุน การดำเนินการในกิจกรรมต่าง ๆ ที่กระทำทั้งในประเทศและนอกประเทศ ดังนี้
๕.๑ การวิจัยและพัฒนาการทหารทุกประเภท
๕.๒ การสัมมนา การประชุม การฝึกอบรมทางวิชาการ และการเผยแพร่ ประชาสัมพันธ์ การวิจัยและพัฒนาการทหาร
๕.๓ การติดต่อร่วมมือประสานงานการวิจัย การรับรองและแลกเปลี่ยนนักวิจัย
กับสถาบันและองค์กรต่าง ๆ
๕.๔ การดำเนินการต่าง ๆ เพื่อให้ได้มาซึ่งหัวข้อ ข้อมูล ข้อสนเทศ แนวทาง นโยบายและแผนการวิจัยและพัฒนาการทหาร
๕.๕ การประเมินข้อเสนอโครงการวิจัย การติดตามประเมินผลและการเสนอ รายงานผลการวิจัย
๕.๖ การดำเนินการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยและพัฒนาการทหาร
ข้อ ๖ เงินอุดหนุนโครงการวิจัยและพัฒนาการทหาร แบ่งออกเป็น ๒ ประเภทดังนี้
๖.๑ เงินอุดหนุนโครงการวิจัยและพัฒนาการทหารประเภททั่วไป ได้แก่ เงินอุดหนุน โครงการวิจัยและพัฒนาการทหาร ที่เสนอคำขอการวิจัยตามปกติ
๖.๒ เงินอุดหนุนโครงการวิจัยและพัฒนาการทหารประเภทเร่งด่วน ได้แก่ เงินอุดหนุน โครงการวิจัยและพัฒนาการทหาร ที่เสนอคำขอการวิจัยได้ทุกโอกาส
ข้อ ๗ ให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหมรวบรวมและเสนอขอตั้งงบประมาณ โครงการวิจัยและพัฒนาการทหารในหมวดเงินอุดหนุน ตามรายการในข้อ ๔ ต่อสำนักงบประมาณกลาโหม ตามแบบที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
ข้อ ๘ ให้ผู้อำนวยการสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม เป็นผู้มีอำนาจในการ พิจารณาและอนุมัติการใช้จ่ายเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหาร และมีอำนาจออกระเบียบสำนัก งานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินอุดหนุนได้โดยไม่ขัดต่อระเบียบนี้
/ข้อ ๙ ...

ข้อ ๙ หน่วยเจ้าของโครงการมีหน้าที่และความรับผิดชอบ ดังนี้
๙.๑ จัดทำและเสนอคำขอโครงการวิจัยและพัฒนาการทหารตามนโยบายและ
เป้าหมายการวิจัยและพัฒนาการทหารของกระทรวงกลาโหม ต่อสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหาร ตาม แบบที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกำหนด เพื่อสรุปส่งให้สำนักงบประมาณกลาโหมตามแบบ
ที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
๙.๒ ปรับปรุงแก้ไขจัดทำโครงการตามที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหาร กลาโหมชี้แจง
๙.๓ เตรียมปรับแผนการดำเนินงานของโครงการที่รับผิดชอบให้สอดคล้องกับ
งบประมาณที่ได้รับ
๙.๔ เบิกเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหารจากสำนักงานวิจัยและพัฒนาการ ทหารกลาโหม ตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติ
๙.๕ ดำเนินการวิจัยและพัฒนาการทหารตามโครงการวิจัยที่ได้รับเงินอุดหนุนแล้ว
๙.๖ ดำเนินการจ้างและซื้อตามแผนการใช้จ่ายเงินที่ได้รับอนุมัติ โดยปฏิบัติตาม ระเบียบแบบแผนที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
๙.๗ รายงานสถานภาพการใช้จ่ายเงินอุดหนุนและความก้าวหน้าของโครงการ
ตามแบบและห้วงเวลาที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหมกำหนด
ข้อ ๑๐ ให้สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม รายงานสถานภาพการใช้จ่าย
เงินอุดหนุนให้ปลัดกระทรวงกลาโหมทราบ ตามวงเงินงบประมาณ ภายใน ๖๐ วัน นับแต่วันสิ้นงวด
ข้อ ๑๑ ให้กรรมสิทธิ์ของครุภัณฑ์และผลิตผลจากการวิจัยและพัฒนาการทหารตาม
โครงการ เป็นของสำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหม โดยอาจมอบให้หน่วยเจ้าของโครงการ
เป็นผู้เก็บรักษา และรายงานสถานภาพหรือรับโอน ตามที่สำนักงานวิจัยและพัฒนาการทหารกลาโหมกำหนด
ข้อ ๑๒ การบัญชี การเก็บรักษาเงิน และการตรวจสอบภายใน ให้ปฏิบัติตามระเบียบแบบ แผนที่กระทรวงกลาโหมกำหนด
/ข้อ ๑๓...

ประกาศ ณ วันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๓๖
(ลงชื่อ) พลเอก วิจิตร สุขมาก
(วิจิตร สุขมาก)
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม
-------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
หลักการ :- กำหนดหลักเกณฑ์ในการพิจารณาและอนุมัติการใช้จ่ายเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนา
การทหาร ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหมได้รับการจัดสรรจากงบประมาณแผ่นดิน
ตามพระพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปี หรือพระราชบัญญัติงบประมาณ
รายจ่ายเพิ่มเติมให้เป็นไปด้วยความเหมาะสม
เหตุผล :- เพื่อเป็นแนวทางในการเบิกและใช้จ่ายเงินอุดหนุนการวิจัยและพัฒนาการทหารให้สอดคล้อง
กับวัตถุประสงค์ทางทหารของกระทรวงกลาโหม ในลักษณะรวมการด้านนโยบายและแยกการ
ปฏิบัติได้อย่างรวดเร็ว ทันสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป
Google