วันพฤหัสบดีที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2552

การฝึกพลทหารกองประจำการผลัดที่ 1/52





บริเวณ ร้อย ปล.ที่ 4

กำหนดการเปิดการฝึกหลักสูตรทหารมหาดเล็ก

7 มิ.ย.52 ต้อนรับ และแนะนำสถานที่
วินัยทหาร


วินัยทหารเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร ในยามสงคราม ถ้าทหารมีวินัยดี การปกครอง
บังคับบัญชาเป็นระเบียบเรียบร้อย การปฏิบัติในการรบย่อมมีหวังในชัยชนะถ้าทหารไม่มีวินัย ควบคุม
กันไม่ได้ สมรรถภาพของทหารก็จะเสื่อมโทรม ไม่อาจปฏิบัติการอย่างหนึ่งอย่างใดให้สำเร็จลุล่วงไป
จนอาจเป็นภัยร้ายแรงแก่ประเทศชาติได้ แม้ในยามปกติ การมีวินัยของทหารยังเป็นเครื่องเชิดชูเกียรติ
แสดงถึงสมรรถภาพของกองทัพเป็นที่ยกย่องแก่ประชาชนทั่วไป

ความจำเป็นที่ต้องมีกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร


เนื่องจากทหารมีหน้าที่ป้องกันประเทศชาติโดยตรงและเป็นกลุ่มบุคคลที่ถืออาวุธโดย
เปิดเผย ย่อมกระทำผิดได้ง่ายกว่าบุคคลพลเรือนทั่วไป ดังนั้น การปกครองบังคับบัญชาทหารจึง
จำเป็นต้องกระทำโดยเฉียบขาด สำหรับการบังคับบัญชา หมายถึง อำนาจปกครอง , ควบคุมดูแล
และสั่งการให้เป็นไปตามอำนาจหน้าที่ โดยเรียกผู้มีอำนาจปกครองควบคุมดูแลและสั่งการนั้นว่า
“ผู้บังคับบัญชา” และเรียกผู้อยู่ใต้อำนาจปกครองควบคุมดูแลและสั่งการนั้นว่า “ผู้ใต้บังคับบัญชา”
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้คนจำนวนมากสามารถปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพก็คือ ความมี
วินัย ซึ่งหากทหารขาดวินัยหรือวินัยหย่อนยานเสียแล้ว ย่อมก่อให้เกิดความแตกแยก แตกความสามัคคี
และยากที่จะปฏิบัติหน้าที่ให้บรรลุภารกิจ ซึ่งอาจส่งผลเสียหายอย่างร้ายแรงต่อส่วนรวมได้ในที่สุด
สำหรับเครื่องมือสำคัญเครื่องมือสำคัญเบื้องต้นของผู้บังคับบัญชาในอันที่จะรักษาระเบียบวินัยของ
ทหารก็คือ กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารซึ่งเป็นกฎหมายที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาเพื่อใช้ในการปกครอง
บังคับบัญชา ตลอดจนให้อำนาจลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำผิดวินัยทหารโดยเฉพาะ ทั้งยังเป็นการ
ช่วยเสริมสร้างกองทัพให้มีความเป็นระเบียบเรียบร้อยและมีประสิทธิภาพเข้มแข็ง

ที่มาของกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร

การปกครองของไทยในสมัยโบราณนับตั้งแต่กรุงสุโขทัย ยึดถือนโยบายการป้องกัน
ประเทศเป็นหลัก ชายฉกรรจ์ทุกคนต้องเป็นทหาร การปกครองทั่วไปใช้วิธีปกครองอย่างทหาร
ดังนั้น วินัยกับทหารจึงเป็นสิ่งที่คู่กันมาตลอดมา แต่ระเบียบกฎเกณฑ์หรือข้อบังคับต่าง ๆ ยังมิได้
ตราขึ้นเป็นกฎหมาย คงยึดถือประเพณีหรือแบบธรรมเนียมที่ทหารต้องประพฤติปฏิบัติตาม ครั้น
ในสมัยต่อ ๆ มา แม้การศึกสงครามจะห่างลง ทำให้การปกครองอย่างทหารผ่อนคลายลงไป แต่
ก็ยังคงถือเป็นหลักการอยู่ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา พระมหากษัตริย์กับกำลังทหารมีความเกี่ยวข้อง
ผูกพันกันเป็นอย่างมาก ซึ่งจะพบว่ามีกฎหมายหลายฉบับที่มีบทบัญญัติเกี่ยวกับการเกณฑ์ทหาร
และการออกสงคราม เช่น พระอัยการอาญาหลวง บัญญัติในแผ่นดินสมเด็จพระรามาธิบดีอู่ทอง
พ.ศ.๑๘๙๕ พระอัยการกบฏศึก บัญญัติในแผ่นดินสมเด็จพระบรมไตรโลกนารถ พ.ศ.๒๐๐๑
เป็นต้น

ต่อมาในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงตรา
พระราชบัญญัติและประกาศต่าง ๆ เล่ม ๓ ออกใช้บังคับ ซึ่งในกฎหมายฉบับนี้มีประกาศพระราช
กำหนดกฎหมายทหาร โดยพระยาบุรุศรัตนพัลลภจางวาง ผู้กำกับทหารบกทุกหมู่ ให้ใช้บังคับตั้งแต่
วันอังคาร เดือน ๗ ขึ้นค่ำหนึ่ง จ.ศ.๑๒๒๕ (พ.ศ.๒๔๐๖) สำหรับใช้บังคับแก่ทหารที่มียศต่าง ๆ
ตั้งแต่ ครู นายแถวและทหารเลว รวม ๑๓ ข้อ เพื่อยึดถือปฏิบัติเกี่ยวกับเรื่องการลา การเตรียมตัว
เมื่อถึงเวลาฝึกหัด การระวังรักษาดูแลเครื่องแต่งกาย การจัดยามประจำหน้าที่ การลงโทษทหาร
ที่เกียจคร้านการฝึก การลงโทษทหารที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของผู้บังคับบัญชา การลงโทษทหารที่
นินทาด่าผู้บังคับบัญชาทั้งต่อหน้าแลลับหลัง แบบธรรมเนียมในการแสดงความเคารพต่อผู้บังคับ
บัญชาและผู้ใหญ่นับได้ว่ากฎหมายฉบับนี้เป็นกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารและแบบธรรมเนียมต่าง ๆ
สำหรับให้ทหารผู้บังคับบัญชาและผู้ใต้บังคับบัญชายึดถือปฏิบัติในสมัยนั้น

ต่อมาพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงพระราชทานพระบรมราชานุญาต
ให้ตรากฎหมายว่าด้วยวินัยทหารขึ้นสองฉบับ คือ กฎหว่าด้วยอำนาจลงอาญาทหารเรือ ลงวันที่ ๒๑
มีนาคม ๒๔๕๔ สำหรับใช้บังคับทหารเรือ และกฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐาน
ละเมิดยุทธวินัย ลงวันที่ ๗ มิถุนายน ๒๔๕๘ สำหรับใช้บังคับทหารบก จนกระทั่งในปี พ.ศ. ๒๔๖๔
กฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าวไม่เหมาะสมแก่กาลสมัยและยังไม่มีความชัดเจนพอ กล่าวคือ ไม่มีบท
นิยามศัพท์ให้แน่ชัดว่าวินัยทหารคืออะไร อีกทั้งเมื่อได้ให้อำนาจแก่ผู้บังคับบัญชาแล้ว ก็สมควรมี
หนทางให้ผู้ใต้บังคับบัญชาสามารถร้องทุกข์ได้ ในกรณีที่ถูกผู้บังคับบัญชากดขี่โดยอยุติธรรมนั้นได้
ด้วย ดังนั้นเสนาบดีกระทรวงกลาโหม และเสนาบดีกระทรวงทหารเรือในขณะนั้น จึงได้นำความ
กราบบังคมทูลพระกรุณาขอพระราชทานพระบรมราชานุญาตออกกฎใหม่ และได้รับพระราชทาน
พระบรมราชาอนุญาตให้ตรากฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย ลง
วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๔๖๕ ขึ้นใช้บังคับและให้ยกเลิกกฎหมายเดิมทั้งสองฉบับนั้นเสีย

ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองแผ่นดิน ในปี พ.ศ.๒๔๗๖ พระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าให้ตราพระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร
พุทธศักราช ๒๔๗๖ ขึ้นโดยคำแนะนำและความยินยอมของสภาผู้แทนราษฎร เนื่องจากขณะนั้น
ทั้งทหารบกและทหารเรือ ได้รวมเป็นกระทรวงเดียวกัน จึงสมควรให้กฎหมายฉบับเดียวกันบังคับ
แก่ทหารทั้งหมด กับให้ยกเลิกกฎว่าด้วยยุทธวินัยและการลงอาญาทหารบกฐานละเมิดยุทธวินัย
และยกเลิกกฎเสนาบดีว่าด้วยอำนาจลงอาญาทหารเรือ โดยให้พระราชบัญญัติว่าด้วยวินัยทหาร
พุทธศักราช ๒๔๗๖ มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๔๗๖ ตลอดจนถึงปัจจุบันนี้



ความเกี่ยวพันระหว่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยกับ
กฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร

รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติใดของกฎหมาย กฎ หรือ
ข้อบังคับ ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัตินั้นเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ [1] นอกจากนี้ในเรื่องสิทธิ
และเสรีภาพของชนชาวไทย รัฐธรรมนูญได้บัญญัติว่า บุคคลย่อมเสมอภาคกันในกฎหมายและได้รับ
ความคุ้มครองตามกฎหมายเท่าเทียมกัน [2] อันเป็นการรับรองสิทธิและเสรีภาพขั้นพื้นฐานของ
ประชาชนคนไทย เช่นเดียวกับรัฐธรรมนูญฉบับก่อน ๆ แต่ในการบริหารราชการแผ่นดินแล้ว บุคคลที่
เข้ารับราชการซึ่งรวมถึงข้าราชการทหารด้วย บุคคลเหล่านี้นอกจากจะอยู่ภายใต้บังคับแห่งกฎหมาย
ทั่วไปแล้ว ยังต้องอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายเฉพาะต่างหากจากประชาชนทั่วไป เช่น ทหารต้องตกอยู่
ภายใต้บังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารเป็นต้น ด้วยเหตุนี้เอง รัฐธรรมนูญทุกฉบับทั้งฉบับปัจจุบัน
จึงได้บัญญัติรองรับในเรื่องนี้ไว้ใน มาตรา ๖๔ ว่า “บุคคลซึ่งเป็นทหาร ตำรวจ และข้าราชการอื่นของ
รัฐ ฯลฯ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญ เช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย
กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง
สมรรถภาพ วินัยหรือจรรยาบรรณ” ซึ่งถือได้ว่าเป็นข้อจำกัดสิทธิและเสรีภาพในเรื่องวินัยสำหรับทหาร
เพราะวินัยทหารเป็นรากฐานสำคัญ และเป็นมาตรการจำเป็นที่จะทำให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติ
ราชการเป็นส่วนรวมนั้นเอง

ความหมายของคำว่า “วินัยทหาร” และ “แบบธรรมเนียมทหาร”

“วินัยทหาร” คือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมทหาร (มาตรา ๔)

“แบบธรรมเนียมทหาร” ได้แก่ บรรดา กฎ ข้อบังคับ ระเบียบ คำสั่ง คำแนะนำ
คำชี้แจงและสรรพหนังสือต่าง ๆ ที่ผู้บังคับบัญชาได้ออกหรือได้วางไว้เป็นหลักฐานให้ทหารปฏิบัติ ซึ่ง
รวมทั้งขนบธรรมเนียมและประเพณีอันดีของทหารทั้งที่เป็นและไม่เป็นลายลักษณ์อักษร

ตัวอย่างของการกระทำผิดวินัยทหาร (มาตรา ๕)

วินัยทหารเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้น ทหารทุกคนจักต้องรักษา
โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืน ท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิด

ตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร มีดังต่อไปนี้

๑. ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชาเหนือตน

๒. ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย

๓. ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร

๔. ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร

๕. เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ

๖. กล่าวคำเท็จ

๗. ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร

๘. ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ

๙. เสพเครื่องดองของเมาจนถึงเสียกิริยา

ผู้ที่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร

จากบทนิยามศัพท์ของคำว่าวินัยทหาร คือการที่ทหารต้องประพฤติตามแบบ
ธรรมเนียมทหาร โดยมิได้มีคำจำกัดความของคำว่าทหาร นั้น หมายถึงทหารประเภทใดบ้าง
เนื่องจากทหารมีหลายประเภท โดยพิจารณาจาก พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗ ซึ่งแบ่ง
ทหารออกเป็น ๔ ประเภท คือ

ก. ทหารกองประจำการ (คือ ผู้ซึ่งขึ้นทะเบียนกองประจำการและได้เข้ารับราชการ
ในกองประจำการจนกว่าจะปลด)

ข. ทหารประจำการ (คือ ทหารซึ่งรับราชการตามที่กระทรวงกลาโหมกำหนดซึ่งมิใช่
ทหารกองประจำการ)

ค. ทหารกองเกิน (คือ ผู้ซึ่งมีอายุตั้งแต่ ๑๘ ปีบริบูรณ์ และยังไม่ถึง ๓๐ ปีบริบูรณ์
ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรา ๑๖ หรือ ผู้ซึ่งได้ลงบัญชีทหารกองเกิน ตามมาตรา ๑๘ แล้ว)

ง. ทหารกองหนุน ซึ่งแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑) ทหารกองหนุนประเภทที่ ๑ (คือ ทหารที่ปลดกองประจำการโดยรับราชการ
ในกองประจำการจนครบกำหนด หรือทหารกองเกินซึ่งสำเร็จวิชาทหารตามกฎหมายว่าด้วยการ
ส่งเสริมการฝึกวิชาทหารและได้ขึ้นทะเบียนกองประจำการแล้วปลดเป็นกองหนุน ตาม พ.ร.บ.รับ
ราชการทหาร พ.ศ.๒๔๙๗)

๒) ทหารกองหนุนประเภทที่ ๒ (คือ ทหารที่ปลดออกจากกองเกิน ตามมาตรา
๓๙ หรือปลดจากกองประจำการ ตามมาตรา ๔๐)

เมื่อพิจารณาคุณสมบัติของทหารทั้ง ๔ ประเภท จะเห็นได้ว่า ทหารที่ต้องอยู่ในบังคับ
แห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหารตลอดเวลาที่รับราชการก็คือ ทหารกองประจำการ และทหารประจำการ
ส่วนทหารกองเกินและทหารกองหนุนนั้น เป็นทหารที่มิได้รับราชการทหารและมิได้อยู่ประจำหน่วย
ทหาร จึงไม่อยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ยกเว้นในกรณีที่ทหารกองเกินและทหาร
กองหนุนถูกเรียกเข้ารับราชการ ตาม มาตรา ๓๖ กล่าวคือเมื่อถูกเรียกพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชา
ทหาร หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมและในการระดมพลต้องตกอยู่ในวินัยทหารเหมือนทหารกอง
ประจำการ ดังนั้น ในช่วงเวลาที่ถูกเรียกเข้ารับราชการกรณีดังกล่าว ทั้งทหารกองเกินและทหาร
กองหนุนต้องตกอยู่ในบังคับแห่งกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร เช่นเดียวกับทหารกองประจำการใน
ฐานะเป็นผู้รับทัณฑ์

สำหรับบุคคลที่มิใช่ทหาร แต่ต้องตกอยู่ในบังคับแห่งวินัยทหาร เพราะมีบทบัญญัติ
ไว้ในตารางเทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ ท้าย มาตรา ๑๐ แห่ง พ.ร.บ.วินัยทหารฯ ในฐานะ
เป็นผู้รับทัณฑ์ ได้แก่

๑. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร
(นักเรียนนายร้อย, นักเรียนนายเรือ, นักเรียนนายเรืออากาศ)

๒. บุคคลผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารโดยคำสั่ง รมว.กห. ตามกฎหมาย
ว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร (พ.ร.บ.ส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร พ.ศ.๒๕๐๓ มาตรา ๑๐
บัญญัติว่านิสิตหรือนักศึกษาที่เข้ารับการฝึกวิชาทหาร ตามหลักสูตรที่ กห.กำหนด ในระหว่างที่
เข้ารับการฝึกวิชาทหารให้ถือว่าเป็นทหารกองประจำการ)

๓. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้ว จะได้เป็นนายทหารประทวน (นักเรียน
นายสิบ , นักเรียนจ่า , นักเรียนจ่าอากาศ)



ผู้บังคับบัญชา และผู้ใหญ่เหนือตน

ก. ความหมายของคำว่า “ผู้บังคับบัญชา”

“ผู้บังคับบัญชา” หมายความว่า ผู้ซึ่งมีอำนาจและหน้าที่ปกครองดูแลทุกข์สุขของ
ทหาร ทั้งรับผิดชอบในความประพฤติ การฝึกสอน อบรม การลงทัณฑ์ ตลอดจนสั่งการแก่ผู้ใต้
บังคับบัญชา และให้ความดีความชอบแก่ทหารได้

ผู้บังคับบัญชาแบ่งออกเป็น ๒ ประเภท คือ

๑) ผู้บังคับบัญชาโดยตรง มีอยู่คนเดียว คือ ผู้บังคับบัญชาที่อยู่ใกล้ชิดที่สุด
สำหรับดูแลสุขทุกข์ผู้ใต้บังคับบัญชา เช่นผู้บังคับบัญชาโดยตรงของพลทหารในหมู่หนึ่ง ๆ ก็ คือ
ผบ.หมู่นั้น ๆ ผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ ผบ.หมู่ คือ ผบ.หมวด และผู้บังคับบัญชาโดยตรงของ
ผบ.หมวด คือ ผบ.ร้อย เป็นต้น

๒) ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น หมายถึง ผู้บังคับบัญชาตั้งแต่อันดับสูงถัดขึ้น
ไปจากผู้บังคับบัญชาโดยตรง เช่น ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้นของพลทหารในหมู่หนึ่ง ๆ ได้แก่
ผบ.หมวด, ผบ.ร้อย, ผบ.พัน, ผบ.กรม, ผบ.พล, แม่ทัพ และ รมว.กห. ซึ่งเป็นการเรียงลำดับจากต่ำ
ไปหาสูงตามตำแหน่งที่ปรากฏในตารางกำหนดชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ท้ายมาตรา ๑๐ ส่วน
หน่วยทหารที่มีการจัดหน่วยและเรียกตำแหน่งไม่ตรงตามตำแหน่งดังกล่าว ให้พิจารณาจากอัตรา
การจัดของหน่วยและสายการบังคับบัญชาของหน่วยนั้น ๆ เป็นหลักในการจัดลำดับชั้นของผู้บังคับ
บัญชา

ข. ความหมายของคำว่า “ผู้ใหญ่เหนือตน”

“ผู้ใหญ่เหนือตน” หมายความว่า ผู้ที่มียศสูงกว่าหรือมีตำแหน่งสูงกว่าแต่ไม่มี
อำนาจบังคับบัญชา เพียงแต่มีสิทธิในการว่ากล่าวตักเตือนผู้น้อยในทางที่ชอบ ผู้ใหญ่เหนือตน
ได้แก่ ผู้ที่อยู่ในสังกัดเดียวกัน แต่มิใช่ผู้บังคับบัญชา หรือผู้ที่อยู่ในสังกัดเดียวกันแต่ต่างสายการ
บังคับบัญชา หรือผู้ที่อยู่ต่างสังกัด ต่างเหล่าทัพ เป็นต้น

ข้อสังเกต

สำหรับผู้ดำรงตำแหน่งรอง หรือ ผู้ช่วยของหัวหน้าส่วนราชการ หรือหน่วยใด ๆ นั้น
มักมีผู้เข้าใจไขว้เขวอยู่เสมอว่าผู้ดำรงตำแหน่งดังกล่าวเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงบ้าง เป็นผู้บังคับ
บัญชาตามลำดับชั้นบ้าง ซึ่งเป็นการไม่ถูกต้อง เพราะผู้ดำรงตำแหน่งรอง หรือผู้ช่วย มีหน้าที่
ช่วยเหลือการบริหารงานของหัวหน้าส่วนราชการ หรือ ผบ.หน่วย นั้น ๆ เท่านั้น

ทัณฑ์ทางวินัย มี ๕ สถาน (มาตรา ๘)

ทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิดต่อวินัยทหาร ให้มีกำหนดเป็น ๕ สถาน โดยเรียงจากเบา
ไปหาหนัก คือ

ก. ภาคทัณฑ์

ข. ทัณฑกรรม

ค. กัก

ง. ขัง

จ. จำขัง

ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใด
ดังกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปรานี จึงเป็นแค่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฏ หรือให้ทำ
ทัณฑ์บนไว้ (สำหรับ “เหตุอันควรปรานี” ควรใช้เหตุที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา
มาตรา ๕๖ เป็นแนวทางประกอบดุลพินิจของผู้บังคับบัญชา)

ทัณฑกรรม คือการให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตน
จะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ (โดยมีหลักเกณฑ์ในคำอธิบาย
ท้ายตารางกำหนดทัณฑ์ว่า ทัณฑกรรมที่กำหนดไว้เป็นวัน ๆ หมายความว่า ทำทัณฑกรรมทุก ๆ วัน
จนกว่าจะครบกำหนดในวันหนึ่งนั้น ผู้ที่จะสั่งลงทัณฑ์จะกำหนดทัณฑกรรมได้ไม่เกินกว่าวันละ ๖
ชั่วโมง แต่ถ้าให้อยู่เวรยามในวันหนึ่งไม่เกินกำหนดเวลาอยู่เวรยามตามปกติ ผู้ใดจะสั่งลงทัณฑกรรม
ให้กำหนดให้ชัดเจนว่า ทัณฑกรรมกี่วันและวันละเท่าใด สำหรับผู้กระทำผิดวินัยและเป็นผู้รับทัณฑ์
สถานนี้ได้ คือ ผู้รับทัณฑ์ ชั้น ซ, ฌ ได้แก่ นักเรียนทหารและพลทหาร)

กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนดให้

ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคนแล้วแต่จะได้มีคำสั่ง

จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหาร

ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ทางวินัย (มาตรา ๑๐)

ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดทางวินัยมี ๒ ประเภท คือ

ก. ผู้บังคับบัญชา (โดยตรงและตามลำดับชั้น) หรือ

ข. ผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้บังคับบัญชาตามที่ กห. ส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อ กห.,
ทบ., ทร., หรือ ทอ. กำหนด

หลักสำคัญก็คือ ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ได้นั้น จะต้องเป็นผู้มีอำนาจบังคับบัญชาเสียก่อน
เป็นเบื้องแรก ในกรณีที่ผู้สั่งลงทัณฑ์คือ ผู้บังคับบัญชา ไม่ว่าจะเป็นผู้บังคับบัญชาโดยตรงหรือ
ผู้บังคับบัญชาตามลำดับชั้น มักไม่มีปัญหาในทางปฏิบัติเพราะเป็นการสั่งโดยผู้มีอำนาจตาม
กฎหมายในการบังคับบัญชา

ส่วนผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจบังคับบัญชา นั้น โดยปกติจะมิใช่ผู้บังคับบัญชา ดังนั้น
การมอบอำนาจแก่ผู้ซึ่งมิใช่ผู้บังคับบัญชาให้มีอำนาจเสมือนเป็นผู้บังคับบัญชาและมีอำนาจลงทัณฑ์
ได้นั้น จะต้องเป็นไปตามกฎหมายบัญญัติไว้เท่านั้น เพราะหากการมอบอำนาจไม่ถูกต้องหรือไม่ชอบ
ด้วยกฎหมายเสียแล้วก็เท่ากับมิได้มีการมอบอำนาจ การกระทำการใด ๆ หรือการสั่งการย่อมเป็นการ
กระทำที่ปราศจากอำนาจและไม่มีผลบังคับทางกฎหมาย สำหรับการมอบอำนาจที่เป็นไปตาม
หลักเกณฑ์และวิธีการที่กฎหมายกำหนด แยกพิจารณาได้ ดังนี้

ก. การมอบอำนาจตามที่ กห.กำหนด ได้แก่

๑) ข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการสั่งการและประชาสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗ (ผนวก ก.) เป็น
ข้อบังคับที่กำหนดหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจ ๓ กรณี คือ กรณีตำแหน่งว่างลงโดยยังไม่มีการ
แต่งตั้งผู้ใดดำรงตำแหน่งให้แต่งตั้งผู้รักษาราชการชั่วคราว, กรณีผู้ดำรงตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติ
หน้าที่ได้เป็นครั้งคราว ให้แต่งตั้งผู้รักษาราชการแทนชั่วคราวและกรณีตำแหน่งว่างลงหรือผู้ดำรง
ตำแหน่งไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้เป็นครั้งคราวแล้วยังมิได้แต่งตั่งข้าราชการผู้ใดรักษาราชการหรือ
รักษาราชการแทน ให้ รอง, ผู้ช่วย หรือ เสนาธิการ ทำการแทน เป็นครั้งคราว ทั้งนี้ ผู้รับมอบอำนาจ
ดังกล่าวย่อมมีอำนาจหน้าที่ตามตำแหน่งที่ตนรักษาราชการ รักษาราชการแทน หรือทำการแทนนั้น ๆ
ซึ่งหลักเกณฑ์ที่กำหนดตามข้อบังคับ กห. ฉบับนี้เป็นหลักเกณฑ์โดยทั่ว ๆ ไป สำหรับทุกหน่วยงานใน
กห.ที่ต้องยึดถือปฏิบัติ

๒) ข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการศึกษาในต่างประเทศ พ.ศ.๒๕๒๗ เป็นข้อบังคับซึ่ง
กำหนดหลักเกณฑ์ในการปกครองบังคับบัญชาระหว่างศึกษาในต่างประเทศ กล่าวคือ ข้าราชการ
ทหารที่ไปศึกษาในต่างประเทศ ให้ถือว่าเป็นการปฏิบัติหน้าที่ราชการ ซึ่งต้องอยู่ในระเบียบวินัย และ
ปฏิบัติตามแบบธรรมเนียมทหารทุกประการ และให้อยู่ในความปกครองบังคับบัญชาของผู้ช่วยทูต
ฝ่ายทหารประจำประเทศนั้น หรือผู้ที่ กห.มอบอำนาจให้ปกครองบังคับบัญชาตั้งแต่วันรายงานตัว
เมื่อเดินทางไปถึงจนกระทั่งเดินทางกลับ

๓) ระเบียบ กห.ว่าด้วยโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ พ.ศ.๒๕๒๗ ซึ่งมี
หลักเกณฑ์คือ โรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญ (รร.ธน.) มีผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทหาร
พระธรรมนูญ (ผบ.รร.ธน.) เป็นผู้บังคับบัญชารับผิดชอบ โดยเจ้ากรมพระธรรมนูญ (จก.ธน.) เป็น
ผู้บัญชาการโรงเรียนเหล่าทหารพระธรรมนูญโดยตำแหน่ง สำหรับผู้ที่เข้าศึกษาอบรมใน รร.ธน.
ในระหว่างการศึกษาอบรม ผู้เข้าศึกษาอบรมคงอยู่ในสังกัดเดิม แต่ให้อยู่ในปกครองบังคับบัญชา
ของ ผบ.รร.ธน.

ข. การมอบอำนาจตามที่กองทัพบกกำหนด คือ การมอบอำนาจตามระเบียบ ทบ.
ว่าด้วยการมอบอำนาจบังคับบัญชา พ.ศ.๒๕๑๓ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจโดยสรุปดังนี้

๑) การมอบอำนาจบังคับบัญชา กระทำได้ ๓ วิธี คือ กระทำด้วยหนังสือ กระทำ
ด้วยวาจา หรือกระทำด้วยเครื่องมือสื่อสาร

๒) กรณีที่มอบอำนาจบังคับบัญชา มีดังนี้

ก) ไปปฏิบัติราชการ

ข) ไปร่วมปฏิบัติราชการ

ค) ไปช่วยราชการ

ง) ไปศึกษาในประเทศหรือต่างประเทศ

จ) ไปฝึกอบรมในสถานฝึกอบรมของทหาร

ฉ) ไปป่วยในโรงพยาบาลทหาร

ช) ไปพักในสถานพักฟื้นของทหาร

ซ) กรณีอื่น ๆ

๓) การมอบอำนาจบังคับบัญชาบุคคล หรือส่วนราชการใดที่สังกัด ทบ. ให้แก่
บุคคล หรือส่วนราชการนอก ทบ. จะพิจารณาเป็นราย ๆ ไป

๔) ผู้รับมอบอำนาจบังคับบัญชา มีอำนาจสั่งการตามข้อบังคับ กห. ว่าด้วยการ
สั่งการและประชาสัมพันธ์ พ.ศ.๒๕๒๗

๕) การมอบอำนาจบังคับบัญชา ให้ผู้มอบอำนาจระบุให้ผู้รับมอบอำนาจ มีอำนาจ
สั่งการเกี่ยวกับความชอบ การลงทัณฑ์ การลา หรือเรื่องอื่น ๆ ได้ตามที่เห็นสมควร

๖) การมอบอำนาจบังคับบัญชา ให้กำหนดระยะเวลาเริ่มต้นและสิ้นสุดแห่งการ
มอบอำนาจไว้ด้วย

ค. การมอบอำนาจตามที่กองทัพเรือกำหนด คือ การมอบอำนาจตามคำสั่ง ทร.
ที่ ๓๑๑/๒๕๑๓ เรื่อง มอบอำนาจบังคับบัญชา ลง ๒๙ ต.ค.๑๓ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการมอบ
อำนาจโดยสรุปดังนี้

๑) บุคคลที่ผู้บังคับบัญชาที่เป็น หน.ส่วนราชการขึ้นตรง ทร.ขึ้นไป สั่งให้ไปช่วย
ปฏิบัติราชการ รับการฝึก หรือศึกษาอบรมในส่วนราชการอื่นใน ทร. ให้ผู้นั้นอยู่ในบังคับบัญชาของ
ผู้บังคับบัญชาส่วนราชการที่ตนไปช่วยปฏิบัติราชการ รับการฝึก หรือศึกษา ตลอดระยะเวลาที่ไป
ช่วยปฏิบัติราชการ รับการฝึก หรือศึกษาอบรม

๒) สำหรับบุคคลที่ถูกสั่งให้ไปช่วยปฏิบัติราชการต่างส่วนราชการขึ้นตรง ทร. หาก
มีความจำเป็นทางราชการ หน.ส่วนราชการขึ้นตรง ทร. ที่ผู้นั้นไปช่วยปฏิบัติราชการจะสั่งให้ผู้นั้นไป
ขึ้นอำนาจบังคับัญชาของผู้ที่อยู่ในตำแหน่งชั้นรองของตน ซึ่งมียศอาวุโสสูงกว่าผู้ที่ไปช่วยปฏิบัติ
ราชการนั้นก็ได้

๓) อำนาจการบังคับบัญชา ตาม ก. และ ข. หมายถึง อำนาจสั่งการในเรื่องเกี่ยวกับ
หน้าที่ราชการที่ได้รับมอบหมายให้ช่วยปฏิบัติราชการ รับการฝึก หรือศึกษาอบรมตลอดจนอำนาจใน
การลงทัณฑ์ การอนุญาตลากิจ และลาป่วย

ง. การมอบอำนาจตามที่กองทัพอากาศกำหนด คือ การมอบอำนาจตามระเบียบ
ทอ. ว่าด้วยการปกครองบังคับบัญชา พ.ศ.๒๕๒๖ ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจโดยสรุปดังนี้

๑) “การปกครองบังคับบัญชา” หมายถึง การที่ผู้บังคับบัญชาใช้อำนาจในการ
ปกครองดูและหน่วยทหาร และหรือกำลังพลที่อยู่ภายใต้บังคับบัญชาของตนภายในขอบเขตของ
กฎหมายและแบบธรรมเนียมที่กำหนดไว้ รวมทั้งอำนาจในการสั่งลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยด้วย

๒) หน่วยแยกหรือหน่วยสมทบที่ไปอยู่ในเขตพื้นที่ของหน่วยขึ้นตรง ทอ. หรือ
หน่วยแยกที่ตั้ง ณ ต่างจังหวัด ให้อยู่ในการบังคับบัญชาของหน่วยขึ้นตรง ทอ. หรือหน่วยแยกที่เป็น
เจ้าของเขตพื้นที่นั้น

๓) กำลังพลที่ไปปฏิบัติราชการหรือช่วยราชการในหน่วยขึ้นตรง ทอ. หรือหน่วยแยก
ให้อยู่ในปกครองบังคับบัญชาของหน่วยนั้น

๔) กำลังพลที่เข้ารับการศึกษาในสถานศึกษาของ ทอ. ให้อยู่ในการปกครองบังคับ
บัญชาของสถานศึกษานั้น

๕) หน่วยขึ้นตรง ทอ.หรือหน่วยแยก หรือสถานศึกษาที่มีอำนาจปกครองบังคับบัญชา
หากสั่งการในด้านการปกครองเกี่ยวกับการลงโทษหรือลงทัณฑ์ทางวินัยแก่กำลังพลที่ไปปฏิบัติราชการ
หรือช่วยราชการ หรือเข้ารับการศึกษา ต้องแจ้งให้ต้นสังกัดผู้ต้องรับโทษหรือรับทัณฑ์นั้นทราบเป็น
ลายลักษณ์อักษร

ข้อสังเกต

แม้ว่าแต่ละหน่วยจะมีหลักเกณฑ์ในการมอบอำนาจแตกต่างกันไปบ้างก็เป็นเพียง
การแตกต่างในรายละเอียดเท่านั้น ส่วนในหลักการและความมุ่งหมายคงเป็นไปในแนวเดียวกัน คือ
เพื่อให้การมอบอำนาจบังคับบัญชาเป็นไปตามที่กฎหมายบัญญัติและเพื่อให้ผู้ได้รับมอบอำนาจ
สามารถใช้อำนาจบังคับบัญชาได้เช่นเดียวกับผู้บังคับบัญชานั่นเอง

เกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์

การที่ผู้บังคับบัญชาชั้นใด จะมีอำนาจลงทัณฑ์ชั้นใด และผู้อยู่ในบังคับบัญชาชั้นใด
จะเป็นผู้รับทัณฑ์ชั้นใดนั้น ต้องถือตามที่กำหนดไว้ในตารางเทียบชั้นตาม มาตรา ๑๐ วรรคท้าย ดังนี้

ตารางเกณฑ์เทียบผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์

ตำแหน่งชั้น
เป็นผู้ลงทัณฑ์ชั้น
เป็นผู้รับทัณฑ์ชั้น

๑. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม

-

๒. แม่ทัพ

-

๓. ผู้บัญชาการกองพล ผู้บังคับการกองเรือ ผู้บัญชาการกองพลบิน

-

๔. ผู้บังคับการกรม ผู้บังคับหมวดเรือ ผู้บังคับกองบิน



๕. ผู้บังคับหมู่เรือชั้น ๑



๖. ผู้บังคับกองพัน ผู้บังคับหมู่เรือชั้น ๒ ผู้บังคับการเรือชั้น ๑ ผู้บังคับฝูงบิน



๗. ผู้บังคับหมู่เรือชั้น ๓ ผู้บังคับการเรือชั้น ๒ ต้นเรือชั้น ๑ ผู้บังคับหมวดบินชั้น ๑



๘. ผู้บังคับกองร้อย ผู้บังคับการเรือชั้น ๓ ต้นเรือชั้น ๒ นายกราบเรือ ผู้บังคับหมวดบินชั้น ๒



๙. ผู้บังคับหมวด ต้นเรือชั้น ๓ ผู้บังคับหมวดบินชั้น ๓



๑๐. ผู้บังคับหมู่ นายตอน
-


๑๑. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารชั้นสัญญาบัตร / บุคคลผู้ซึ่งอยู่ในระหว่างเข้ารับการฝึกวิชาทหารโดยคำสั่ง รมว.กห.ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
-


๑๒. นักเรียนทหารซึ่งเมื่อสำเร็จการศึกษาแล้วจะได้เป็นนายทหารประทวน ลูกแถว
-



เพื่อสะดวกแก่การพิจารณา ขอแยกเกณฑ์การเทียบชั้นตามตารางดังกล่าวให้ชัดเจน
โดยแยกให้เห็นว่า ผู้ลงทัณฑ์ ได้แก่ ผู้ดำรงในตำแหน่งใดและสามารถลงทัณฑ์ในชั้นใด ส่วนผู้รับ
ทัณฑ์ ได้แก่ผู้ดำรงในตำแหน่งใด และจะต้องรับทัณฑ์ในชั้นใด กล่าวคือ

ผลจากการกำหนดชั้นของผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ (กำหนดเป็นตัวเลข) และการกำหนด
ชั้นผู้รับทัณฑ์ (กำหนดเป็นตัวอักษร) ตามตารางดังกล่าวสรุปได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจสั่งลงทัณฑ์ทหาร
ได้นั้น คือ ผู้บังคับบัญชา ตั้งแต่ระดับ รมว.กห. ลงมาจนถึง ผบ.หมวด (ลำดับ ๑-๙) เท่านั้น ส่วน
ลำดับ ๑๐ คือ ผบ.หมู่ แม้จะมีตำแหน่งเป็นผู้บังคับบัญชาทหารระดับหมู่ ก็ไม่อำนาจสั่งลงทัณฑ์
เพราะกฎหมายมิได้ระบุให้อำนาจไว้ ส่วนผู้ต้องรับทัณฑ์ทางวินัย กฎหมายระบุให้เป็นผู้รับทัณฑ์
ได้คือ ผู้มีตำแหน่งตั้งแต่ ผบ.กรม ลงมาจนถึงลูกแถว (ชั้น ก. – ชั้น ฌ.) เท่านั้น จึงไม่อาจลงทัณฑ์
ทางวินัยแก่ผู้มีตำแหน่งตั้งแต่ ผบ.พล ขึ้นไปได้ เพราะกฎหมายมิได้ระบุให้เป็นผู้รับทัณฑ์

สำหรับตารางเกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ จะต้องใช้ประกอบกับตาราง
กำหนดทัณฑ์ ซึ่งอยู่ท้ายกฎหมายฉบับนี้ ทั้งนี้ เพราะว่าการที่ผู้บังคับบัญชาชั้นใด มีอำนาจสั่งลง
ทัณฑ์แก่ผู้ใต้บังคับบัญชา โดยใช้ทัณฑ์สถานใดและมีกำหนดเท่าใดนั้น จะต้องเป็นไปตามตาราง
กำหนดทัณฑ์ระบุไว้เท่านั้น ดังนั้น ในการลงทัณฑ์ทางวินัยจะต้องใช้ตารางเกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์
และผู้รับทัณฑ์ท้าย มาตรา ๑๐ ประกอบกับตารางกำหนดทัณฑ์ท้ายกฎหมายฉบับนี้เสมอ

การเทียบตำแหน่งผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ (มาตรา ๑๑)

ในการลงทัณฑ์ทางวินัยนั้น ถ้าผู้สั่งลงทัณฑ์หรือผู้ต้องรับทัณฑ์นั้นมีตำแหน่งตรง
ตามที่กำหนดไว้ในตารางเทียบชั้นตามที่ปรากฏใน มาตรา ๑๐ วรรคท้ายแล้ว ย่อมไม่มีปัญหา
ในทางปฏิบัติ เพียงแต่ตรวจสอบตำแหน่งของผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ว่าตรงตามตำแหน่งใด
ก็สามารถดำเนินการได้ตามตารางกำหนดทัณฑ์ ในส่วนที่มีปัญหาก็คือ กรณีที่ผู้สั่งลงทัณฑ์หรือ
ผู้รับทัณฑ์มีตำแหน่งไม่ตรงตามตารางดังกล่าว เนื่องจากมีการจัดหน่วยที่แตกต่างกัน ในกรณี
เช่นนี้ ให้ถือตามที่ได้เทียบตำแหน่งไว้ในข้อบังคับ กห.ว่าด้วยตำแหน่ง และการเทียบตำแหน่ง
บังคับบัญชาข้าราชการกลาโหม พ.ศ.๒๕๐๑ (ผนวก ข.)

ข้อพึงระลึกในการลงทัณฑ์

การลงทัณฑ์ทางวินัยเป็นการใช้อำนาจตามกฎหมายและเป็นไปในทางให้โทษแต่
ผู้ใต้บังคับบัญชา ดังนั้น ก่อนจะลงทัณฑ์ผู้ใด ผู้บังคับบัญชาจะต้องพิจารณาให้ถี่ถ้วนแน่นอน
ว่าผู้รับทัณฑ์มีความผิดจริง โดยจะต้องชี้แจงให้ผู้กระทำผิดทราบด้วยว่าได้กระทำผิดในข้อใด
เพราะเหตุใด แล้วจึงสั่งลงทัณฑ์ ทั้งนี้ ต้องระวังอย่าให้ลงทัณฑ์โดยโทสะจริตหรือลงทัณฑ์แก่
ผู้ไม่มีความผิดโดยชัดเจนเป็นอันขาด (มาตรา ๑๓)

สำหรับทัณฑ์ที่จะลงแก่ผู้กระทำผิด ต้องเป็นทัณฑ์สถานใดสถานหนึ่งในทัณฑ์ ๕
สถานเท่านั้น ห้ามมิให้คิดทัณฑ์ขึ้นใหม่หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นนอกเหนือจากที่กฎหมาย
กำหนด (มาตรา ๙ วรรคท้าย)

ในการสั่งลงทัณฑ์แต่ละสถานนั้น ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาแต่ละชั้นมีอำนาจใ
การสั่งลงทัณฑ์แต่ละสถาน เช่น กัก ขัง หรือจำขัง มีกำหนดลดหลั่นกันไป โดยยึดถือตำแหน่ง
ของผู้รับทัณฑ์มาประกอบ ทั้งนี้ต้องเป็นไปตามตารางกำหนดทัณฑ์ท้ายกฎหมายนี้ (มาตรา ๑๐
วรรคสอง) อีกทั้งยังต้องยึดถือตารางเกณฑ์เทียบชั้นผู้ลงทัณฑ์และผู้รับทัณฑ์ท้ายมาตรา ๑๐
เป็นหลักพิจารณาว่าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาในตำแหน่งใดที่เป็นผู้ลงทัณฑ์ชั้นใดบ้าง และผู้อยู่ใน
บังคับบัญชาตำแหน่งใดสามารถเป็นผู้รับทัณฑ์ชั้นใดบ้าง (มาตรา ๑๐ วรรคสาม) ซึ่งเท่ากับเป็น
การบังคับว่าผู้บังคับบัญชาแต่ละลำดับชั้นมีอำนาจสั่งลงทัณฑ์ได้เฉพาะที่กฎหมายกำหนดไว้
อันเป็นการจำกัดทั้งกำหนดเวลาในการลงทัณฑ์และจำกัดทั้งวิธีการในการลงทัณฑ์ไว้โดยชัดเจน
ว่าจะต้องอยู่ในอำนาจของตนเท่านั้น

การลงทัณฑ์เหนืออำนาจ

การที่ผู้บังคับบัญชาชั้นใดมีอำนาจลงทัณฑ์ได้เท่าใด ย่อมเป็นไปตามเกณฑ์ตาราง
กำหนดทัณฑ์ท้าย พ.ร.บ.ว่าด้วยวินัยทหาร ในการสั่งลงทัณฑ์แต่ละครั้ง ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์จะ
สั่งลงทัณฑ์เต็มที่ตามอำนาจที่มีสถานใดสถานหนึ่งเพียงสถานเดียวเท่านั้น (มาตรา ๑๒) แสดง
ให้เห็นว่า การสั่งลงทัณฑ์แต่ละสถานของผู้บังคับบัญชาแต่ละลำดับชั้นนั้น ต้องเป็นไปตามที่
กฎหมายบัญญัติไว้ ซึ่งหากผู้กระทำผิดสมควรได้รับทัณฑ์เหนืออำนาจเกินกว่าที่ตนจะสั่งลงทัณฑ์
ได้ ก็จะต้องรายงานชี้แจงความผิดนั้นรวมทั้งให้ความเห็นด้วยว่า ควรลงทัณฑ์เพียงใด แล้วเสนอ
รายงานตามลำดับชั้นจนถึงผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ได้พอแก่ความผิด เพื่อขอให้ผู้บังคับบัญชาลำดับ
สูงกว่าเป็นผู้ลงทัณฑ์ให้ (มาตรา ๑๕)

แต่มีบางกรณี กฎหมายให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการสั่งลงทัณฑ์ได้เหนืออำนาจ
ที่ปรากฏตามตารางกำหนดทัณฑ์ ซึ่งถือว่าเป็นข้อยกเว้นหลักทั่วไปตามที่บัญญัติไว้ใน มาตรา ๑๕
ได้แก่กรณีดังต่อไปนี้

ก. กรณีเป็นความผิดซึ่งมีวิธีวางอัตรากำหนดทัณฑ์ไว้โดยแน่นอนแล้ว เช่น ความผิด
ฐานหนีราชการ กฎหมายบัญญัติว่า ถึงแม้กำหนดทัณฑ์จะเหนืออำนาจของผู้บังคับบัญชาจะสั่ง
ลงทัณฑ์ได้ ก็ให้นำเสนอเพียงผู้บังคับบัญชา นั้น ผบ.กรม หรือ ผบ.พัน ที่อยู่ต่างท้องถิ่นกับ ผบ.กรม
เป็นผู้สั่งลงทัณฑ์ แม้ว่ากำหนดทัณฑ์ที่เสนอให้สั่งลงทัณฑ์นั้นจะเหนืออำนาจที่ตารางกำหนดทัณฑ์
ระบุไว้ใน มาตรา ๑๕ ก็ให้ผู้บังคับบัญชาระดับดังกล่าวมีอำนาจลงทัณฑ์ได้โดยไม่ต้องนำเสนอผู้บังคับ
บัญชาตามลำดับชั้นต่อไปอีก สำหรับความผิดที่มีวิธีวางอัตรากำหนดทัณฑ์ไว้โดยแน่นอนในปัจจุบัน
มีเพียงกรณีเดียวคือ ข้อบังคับ กห.ว่าด้วยการลงทัณฑ์ทหารขาดหนีราชการ พ.ศ.๒๕๒๘ (ผนวก ค.)
ซึ่งมีหลักเกณฑ์ในทางปฏิบัติให้ใช้เฉพาะทหารกองประจำการซึ่งขาดหรือหนีราชการ เช่น การนับครั้ง
ของการขาดหรือหนีราชการ การลงทัณฑ์ต่อทหารซึ่งขาดหรือหนีราชการในเวลาปกติและในเวลาไม่
ปกติ รวมถึงหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่ไม่อาจลงทัณฑ์ทางวินัยได้โดยต้องส่งตัวผู้กระทำผิดฟ้องศาล
เป็นต้น

ข. กรณีที่นายทหารที่เป็นหัวหน้าทำการควบคุมทหารไปโดยลำพัง นายทหารผู้นั้น
มีอำนาจที่จะสั่งลงทัณฑ์ผู้อยู่ใต้อำนาจบังคับบัญชาในระหว่างที่ควบคุมนั้น ได้เท่ากับผู้มีอำนาจ
ลงทัณฑ์เหนือตำแหน่งของตนขึ้นไปได้อีก ๑ ชั้น (มาตรา ๑๗) เช่น ผบ.มว. เป็นผู้ควบคุมทหาร
ไปโดยลำพัง ก็มีอำนาจสั่งลงทัณฑ์ได้เท่ากับอำนาจของ ผบ.ร้อย ซึ่งเป็นอำนาจที่เหนือกว่า
ผบ.มว. ๑ ชั้น แต่มีข้อยกเว้นคือ ในกรณีเป็นนายทหารซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ ชั้น ๒ ขึ้นไป
กฎหมายบัญญัติว่าไม่ต้องเพิ่ม เพราะนายทหารระดับสูงเช่นนี้อำนาจที่มีอยู่ก็ถือว่ามากอยู่แล้ว

ระยะเวลาในการลงทัณฑ์

ในเรื่องกำหนดระยะเวลาในการลงทัณฑ์ทางวินัย กฎหมายบัญญัติว่า นับตั้งแต่
วันที่ปรากฏหลักฐานแห่งความผิดของผู้กระทำผิดซึ่งจะต้องรับทัณฑ์โดยแน่นอนแล้ว ถ้าผู้มี
อำนาจลงทัณฑ์มิได้จัดการที่จะให้ผู้นั้นได้รับทัณฑ์ภายในกำหนด ๓ เดือน เป็นอันนับว่าล่วงเลย
เวลาที่จะลงทัณฑ์และจะสั่งลงทัณฑ์โดยอำนาจของตนเองมิได้ เว้นแต่ผู้ที่กระทำผิดนั้นขาดหนี
ราชการไปก่อนครบกำหนด ๓ เดือน จึงมิให้นับวันที่ขาดหนีนี้เข้าในกำหนดเวลาล่วงเลย โดยให้
นับตั้งแต่วันที่ได้ผู้นั้นกลับมายังหน่วยต้นสังกัด (มาตรา ๑๙)

ข้อสังเกต

๑) ระยะเวลา ๓ เดือน ให้นับตั้งแต่วันที่ได้มีคำสั่งลงทัณฑ์อย่างชัดแจ้งโดยผู้มี
อำนาจลงทัณฑ์

๒) คำว่า “ปรากฏหลักฐานแห่งความผิดโดยแน่นอน” นั้น หมายถึง หลักฐาน
ปรากฏแก่ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ชั้นใดก็ได้ หากผู้บังคับบัญชาชั้นต้นซึ่งเป็นผู้มีอำนาจลงทัณฑ์มิได้
สั่งลงทัณฑ์ผู้กระทำผิด ก็ไม่ตัดอำนาจผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือในวันที่จะสั่งลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิด
กล่าวคือ ผู้มีอำนาจลงทัณฑ์ชั้นเหนือขึ้นไปที่ทราบหลักฐานแห่งความผิดของผู้กระทำผิดโดยแน่นอน
ในภายหลัง ก็มีอำนาจที่จะลงทัณฑ์ผู้กระทำผิดได้ภายใน ๓ เดือน (หนังสือกรมพระธรรมนูญ ที่
กห๐๒๐๒.๒/๓๒๗๖ ลง ๒๙ พ.ค.๒๙)

อำนาจและหน้าที่ของผู้บังคับบัญชาในการรักษาวินัยทหาร

ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้มีอำนาจและหน้าที่รับผิดชอบในการบริหารหน่วยตลอดจน
ปกครองบังคับบัญชาดูแลทุกข์สุขผู้ใต้บังคับบัญชาให้เป็นไปตามภารกิจและการจัดหน่วยที่ตน
เป็นผู้รับผิดชอบ ในส่วนของกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร ได้บัญญัติถึงอำนาจและหน้าที่ของ
ผู้บังคับบัญชา สรุปได้ดังนี้

ก. อำนาจของผู้บังคับบัญชา

๑) ลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำผิดวินัยทหาร (มาตรา ๑๐) ไม่ว่าเป็นการกระทำ
ความผิดในหรือนอกราชการอาณาจักร

๒) ใช้อาวุธในการรักษาวินัยทหาร หากมีความจำเป็น เพื่อปราบปรามทหารผู้ก่อ
การกำเริบ หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตน ซึ่งในการนี้ ผู้บังคับบัญชา
และผู้ที่ช่วยเหลือจะไม่ต้องรับโทษในการที่ได้กระทำไปโดยจำเป็นนั้นเลย (มาตรา ๖)

๓) ปลดหรือถอดยศทหารผู้ซึ่งกระทำผิดวินัยทหารได้ (มาตรา ๗)

ข. หน้าที่ของผู้บังคับบัญชา

๑) รักษาวินัยทหารโดยเคร่งครัดเสมอ (มาตรา ๕)

๒) ตักเตือน สั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำผิดตามโทษานุโทษ
(มาตรา ๕ (๘) )

๓) เมื่อมีเหตุจำเป็นต้องใช้อาวุธในการรักษาวินัยทหาร เพื่อปราบปรามทหารผู้ก่อ
การกำเริบ หรือ เพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตนแล้ว ผู้บังคับบัญชาจะต้อง
รายงานเหตุดังกล่าวไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตนและรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึง รมว.กห.
(มาตรา ๖)

๔) เมื่อได้ลงทัณฑ์นายทหารชั้นสัญญาบัตร จะต้องส่งรายงานการลงทัณฑ์นั้น
เสนอตามลำดับชั้นจนถึง รมว.กห. (มาตรา ๑๔)

๕) เมื่อได้รับเรื่องร้องทุกข์ ต้องรีบไต่สวนและจัดการแก้ไขความเดือนร้อน หรือ
ชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์เข้าใจ จะเพิกเฉยไม่ได้ หากผู้บังคับบัญชาคนใดเพิกเฉย ถือว่าผู้บังคับบัญชา
กระทำผิดต่อวินัยทหาร (มาตรา ๒๙)

การร้องทุกข์

๑. ความจำเป็นที่ต้องมีการร้องทุกข์

กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงความเกี่ยวข้องระหว่างผู้บังคับ
บัญชากับผู้ใต้บังคับบัญชา โดยให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการปกครองและลงทัณฑ์แก่ผู้ใต้บังคับ
บัญชาที่กระทำผิดวินัยทหาร เพื่อรักษาไว้ซึ่งอำนาจในการปกครองบังคับบัญชาและรักษาความเป็น
ระเบียบเรียบร้อยของหน่วย แต่ถ้าหากผู้บังคับบัญชาอาจใช้อำนาจที่มีอยู่ไปในทางไม่ถูกต้อง
ยุติธรรม จึงสมควรที่จะให้ผู้ใต้บังคับบัญชามีสิทธิ์ที่จะร้องทุกข์ได้ (มาตรา ๒๑) ทั้งนี้ ต้องเป็นไป
ตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไว้ ซึ่งก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
มาตรา ๖๑ ที่บัญญัติว่า “บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการพิจารณาภาย
ในเวลาอันสมควร ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ”

๒. ความหมายของการร้องทุกข์ (มาตรา ๒๒)

การร้องทุกข์ หมายถึง การที่ทหารชี้แจงว่า

๑) ผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนด้วยการอันไม่เป็นยุติธรรม หรือ

๒) ผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนโดยผิดกฎหมาย หรือ

๓) ผู้บังคับบัญชากระทำแก่ตนโดยผิดแบบธรรมเนียมทหาร หรือ

๔) ตนมิได้รับผลประโยชน์หรือสิทธิตามที่ควรจะได้รับในราชการ

๓. วิธีร้องทุกข์

๑) ร้องทุกข์ด้วยวาจา ให้ผู้รับคำร้องทุกข์จดแจ้งข้อความสำคัญของเรื่องราว
ไว้ และให้ผู้ร้องทุกข์ลงชื่อไว้เป็นหลักฐาน (มาตรา ๒๖ วรรคแรก)

๒) ร้องทุกข์เป็นหนังสือ ต้องลงลายมือชื่อของผู้ร้องทุกข์ ถ้าไม่มีลายมือชื่อ
ของผู้ร้องทุกข์ ผู้บังคับบัญชาไม่มีหน้าที่ต้องพิจารณา (มาตรา ๒๗)

๔. ร้องทุกข์ต่อผู้ใด

๑) ถ้าจะกล่าวโทษผู้ใด (กรณีที่ทราบตัวแน่ชัด) ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชา
โดยตรงของผู้นั้น (มาตรา ๒๖ วรรคแรก)

๒) ถ้าไม่ทราบชัดเจนว่า ตนได้รับความเดือนร้อนเพราะผู้ใด ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับ
บัญชาโดยตรงของตน เพื่อเสนอไปตามลำดับชั้นจนถึงที่สุดคือผู้ที่จะสั่งการไต่สวนและแก้ความ
เดือดร้อนนั้นได้ (มาตรา ๒๖ วรรคสอง)

๕. กรณีร้องทุกข์แล้วไม่ได้รับคำชี้แจง

เมื่อการร้องทุกข์ครั้งแรกได้ล่วงพ้นไป ๑๕ วัน โดยที่ไม่ได้รับคำชี้แจงรวมทั้งความ
เดือดร้อนก็ยังไม่ปลดเปลื้องไป ให้ร้องทุกข์ใหม่ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นที่สูงถึงขึ้นไปจากผู้ที่เคยร้องทุกข์
ไว้ครั้งแรก และให้ชี้แจงในการร้องทุกข์ครั้งนี้ด้วยว่าได้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นใดมาแล้ว
แต่เมื่อใด (มาตรา ๒๘)

๖. กรณีได้รับคำชี้แจงเรื่องร้องทุกข์แล้ว แต่ยังไม่หมดความสงสัย

ถ้าผู้บังคับบัญชาที่ได้รับเรื่องร้องทุกข์ได้ชี้แจงให้ผู้ร้องทุกข์ทราบแล้ว แต่ผู้ร้องทุกข์
ยังไม่หมดความสงสัย ก็ให้ร้องทุกข์ต่อผู้บังคับบัญชาชั้นเหนือขึ้นไปได้ และต้องชี้แจงด้วยว่าได้
ร้องทุกข์ต่อผู้ใด และได้รับคำชี้แจงอย่างไรด้วย (มาตรา ๓๐)

๗. ข้อห้ามในการร้องทุกข์

๑) ห้ามร้องทุกข์แทนผู้อื่น ให้ร้องทุกข์สำหรับตนเองเท่านั้น (มาตรา ๒๓)

๒) ห้ามลงชื่อรวมกัน หรือเข้ามาร้องทุกข์พร้อมกันหลายคน (มาตรา ๒๓)

๓) ห้ามมิให้ประชุมกันเพื่อหารือเรื่องจะร้องทุกข์ (มาตรา ๒๓)

๔) ห้ามร้องทุกข์ในเวลาที่กำลังเข้าแถว หรือในขณะทำหน้าที่เวรยาม (มาตรา ๒๔)

๕) ห้ามร้องทุกข์ก่อนเวลาล่วงไปแล้ว ๒๔ ชั่วโมง นับแต่มีเหตุจะต้องร้องทุกข์
เกิดขึ้น (มาตรา ๒๔)

๖)ห้ามร้องทุกข์ว่าผู้บังคับบัญชาลงทัณฑ์แรงเกินไป ถ้าหากว่าผู้บังคับบัญชามิได้
ลงทัณฑ์เกินอำนาจ (มาตรา ๒๕)

๗) ห้ามร้องทุกข์เป็นบัตรสนเท่ห์ เพราะหนังสือร้องทุกข์จะต้องลงลายมือชื่อของ
ผู้ร้องทุกข์ (มาตรา ๒๗)

๘) ห้ามร้องทุกข์ด้วยข้อความอันเป็นเท็จ (มาตรา ๓๑)

๙) ห้ามร้องทุกข์ที่ผิดระเบียบการร้องทุกข์ (มาตรา ๓๑)

ข้อสังเกต

สิทธิในการร้องทุกข์ถือว่าเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของประชาชนโดยทุกคน โดยเฉพาะ
อย่างยิ่งการ้องทุกข์ของทหาร จะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่กำหนดไว้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วย
วินัยทหารฯ หมวด ๔ ซึ่งหากนอกเหนือไปจากนี้แล้ว ไม่ถือว่าเป็นการร้องทุกข์

ส่วนกรณีที่มีการร้องเพื่อขอให้ทางราชการช่วยเหลือ หรือการเสนอความเห็นที่ตนคิด
ว่าจะเป็นประโยชน์แก่ทางราชการเท่านั้น ถือว่าเป็นการร้องเรียน แต่มิใช่การร้องทุกข์ตาม พ.ร.บ.ว่า
ด้วยวินัยทหารฯ (คำชี้แจงทหาร ที่ เรื่อง การร้องเรียน)

กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารและความเกี่ยวพันกับกฎหมายอื่น

ก. รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๔๐ มีบทบัญญัติโดย
ตรงที่มีผลบังคับต่อกฎหมายวินัยทหาร คือ

๑) มาตรา ๖๔ บุคคลผู้เป็นทหาร ตำรวจ ข้าราชการ เจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ
พนักงานส่วนท้องถิ่น และพนักงานหรือลูกจ้างขององค์การของรัฐ ย่อมมีสิทธิและเสรีภาพตาม
รัฐธรรมนูญเช่นเดียวกับบุคคลทั่วไป เว้นแต่ที่จำกัดในกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับที่ออกโดย
อาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับการเมือง สมรรถภาพ วินัย
หรือจรรยาบรรณ

๒) มาตรา ๖๑ บุคคลย่อมมีสิทธิเสนอเรื่องราวร้องทุกข์และได้รับแจ้งผลการ
พิจารณาภายในเวลาอันสมควร ทั้งนี้ ตามที่กฎหมายบัญญัติ

ข้อสังเกต จากบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญฯ ทั้ง ๒ มาตรา เป็นการรองรับ
พ.ร.บ. ว่าด้วยวินัยทหาร ฯ ในส่วนที่ทหารต้องอยู่ภายใต้บังคับในส่วนที่เกี่ยวกับวินัยทหารไม่ว่า
จะเป็นกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับต่าง ๆ เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ ยังบัญญัติถึงสิทธิในการร้องทุกข์
ของทหาร ซึ่งมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการร้องทุกข์ไว้โดยเฉพาะใน พ.ร.บ.วินัยทหาร ฯ ตั้งแต่
มาตรา ๒๑ ถึง มาตรา ๓๑

ข. ประมวลกฎหมายอาญาทหาร

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นรัชสมัยพระบาทสมเด็จ
พระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปี พ.ศ.๒๔๕๕ เป็นกฎหมายที่กำหนดลักษณะโทษและความผิด
ต่าง ๆ ที่เป็นความผิดทางอาญาในบางลักษณะเพื่อลงโทษแก่เจ้าหน้าที่ฝ่ายทหาร เหตุผลก็คือ
การที่ทหารกระทำผิดกฎหมายอาญาบ้านเมืองนั้น นอกจากจะเป็นความผิดทางอาญาแล้ว
ความผิดดังกล่าวมีลักษณะเป็นการละเว้นการอันควรประพฤติของฝ่ายทหารเจือปนด้วย จึง
สมควรมีกฎหมายอาญาทหารเพื่อลงโทษทหารให้หนักกว่าผู้กระทำผิดเช่นเดียวกันซึ่งเป็นคน
ธรรมดาสามัญ นอกจากนี้ ความผิดทางอาญาในทางทหารถือว่าเป็นความผิดวินัยกึ่งอาญา
แผ่นดิน (คำพิพากษาฎีกาที่ ๑๑๒๑/๒๔๙๕) สำหรับประมวลกฎหมายอาญาทหารในส่วนที่
เกี่ยวข้องกับกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร มีหลายกรณีด้วยกัน กล่าวคือ

๑) ให้อำนาจลงทัณฑ์ผู้กระทำผิดวินัยทหาร ไม่ว่าจะเป็นการกระทำ
ผิดที่ใด

ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๗ บัญญัติว่า ผู้มีอำนาจบังคับบัญชา
ตามกฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร มีอำนาจลงทัณฑ์แก่ทหารผู้กระทำผิดวินัยทหารตามกฎหมาย
ว่าด้วยวินัยทหาร ไม่ว่าเป็นการกระทำความผิดในหรือนอกราชอาณาจักร

๒) การกระทำผิดกฎหมายอาญาทหารในบางลักษณะให้อำนาจผู้บังคับบัญชา
ลงทัณฑ์ทางวินัยแทนการส่งตัวฟ้องศาลได้

การลงทัณฑ์ทางวินัย กับ การลงโทษทางอาญานั้น แตกต่างกันอย่างชัดเจนทั้ง
ในเรื่องเจตนารมณ์ของกฎหมายและวิธีปฏิบัติต่อผู้กระทำผิด รวมทั้งผลที่มีต่อผู้กระทำผิด แต่ใน
ความผิดตามกฎหมายอาญาทหารบางลักษณะกฎหมาย ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาที่จะพิจารณา
เห็นว่า การกระทำผิดดังกล่าวเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ผู้บังคับบัญชามีอำนาจลงทัณฑ์ให้ถือว่า
เป็นความผิดต่อวินัยทหาร ทั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมาย
อาญา มาตรา ๘ และ ๙ คือ

มาตรา ๘ การกระทำความผิดอย่างใด ๆ ที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๒๑ มาตรา ๒๓
มาตรา ๒๔ มาตรา ๒๘ มาตรา ๒๙ มาตรา ๓๐ มาตรา ๓๑ มาตรา ๓๒ มาตรา ๓๓ มาตรา ๓๔
มาตรา ๓๕ มาตรา ๓๖ มาตรา ๓๗ มาตรา ๓๙ มาตรา ๔๑ มาตรา ๔๒ มาตรา ๔๓ มาตรา ๔๔
มาตรา ๔๖ และมาตรา ๔๗ แห่งประมวลกฎหมายนี้ ถ้าผู้มีอำนาจบังคับบัญชาตามกฎหมายว่า
ด้วยวินัยทหารพิจารณาเห็นว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ให้ถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหารและ
ให้มีอำนาจลงทัณฑ์ตามมาตรา ๗ เว้นแต่ผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการตามกฎหมายว่าด้วย
ธรรมนูญศาลทหาร จะสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในศาลทหาร หรือจะมีการ
ดำเนินคดีนั้นในศาลพลเรือน ตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร จึงให้เป็นไปตามนั้น

มาตรา ๙ ความที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๘ ให้ใช้ตลอดถึงความผิดลหุโทษและ
ความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย

ตามปกติแล้ว ความผิดทุกมาตราที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาทหาร
ทุกมาตรา ถือว่าเป็นความผิดทางอาญา ดังนั้น ผู้กระทำความผิดตามกฎหมายนี้ย่อมถูกส่งตัว
ฟ้องศาล แต่ความในมาตรา ๘ บัญญัติเป็นข้อยกเว้นไว้ว่า ถ้าเป็นความผิดตามมาตราใดมาตรา
หนึ่ง รวม ๒๑ มาตรา ดังต่อไปนี้

มาตรา ๒๑ นายเรือทำให้เรือชำรุดโดยประมาท

มาตรา ๒๓ ทำให้เรือทหารชำรุดหรืออับปางโดยประมาท

มาตรา ๒๔ ความผิดที่กระทำต่อเรือที่ใช้เดินในลำน้ำ

มาตรา ๒๗ ทหารทำลายหรือละทิ้งทรัพย์ที่ใช้ในการยุทธ

มาตรา ๒๘ สบประมาทธง

มาตรา ๒๙ ทหารละทิ้งหน้าที่

มาตรา ๓๐ ทหารขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง

มาตรา ๓๑ ทหารขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามคำสั่งอย่างองอาจ

มาตรา ๓๒ ทหารขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามข้อบังคับ

มาตรา ๓๓ ทหารขัดขืนหรือละเลยไม่กระทำตามข้อบังคับอย่างองอาจ

มาตรา ๓๔ ทหารหลับยามหรือเมาสุรา

มาตรา ๓๕ ทหารไม่เอาใจใส่หรือประมาทในหน้าที่

มาตรา ๓๖ ทำร้ายทหารยาม

มาตรา ๓๗ หมิ่นประมาทหรือขู่เข็ญทหารยาม

มาตรา ๓๙ ทหารทำร้ายผู้ใหญ่เหนือตน

มาตรา ๔๑ ทหารแสดงความอาฆาต หรือหมิ่นประมาทผู้บังคับบัญชา หรือ
ทหารผู้ใหญ่เหนือตน

มาตรา ๔๒ ทหารกระทำการกำเริบ

มาตรา ๔๓ ทหารกระทำกำเริบโดยมีสาตราวุธ

มาตรา ๔๔ ทหารกระทำการกำเริบแล้วเลิกไปโดยดี

มาตรา ๔๖ ทหารกระทำผิดฐานหนีราชการ

มาตรา ๔๗ ทหารปลอมปนทรัพย์ของทหาร

หากผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นว่า การกระทำความผิดฐานใดฐานหนึ่งใน ๒๑
ลักษณะนี้ เป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็ให้ถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหาร และผู้บังคับบัญชามี
อำนาจลงทัณฑ์ทางวินัยได้ แต่มีข้อยกเว้นไว้ว่าในความผิดดังกล่าว ถ้าผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ
จะสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำผิดฟ้องศาลก็ต้องเป็นไปตามนั้น ทั้งนี้ เพราะว่าอำนาจสั่งคดีในทาง
ศาลทหารเป็นอำนาจ ตามกฎหมายของผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการโดยตรง ส่วนความผิดตาม
ประมวลกฎหมายอาญาทหารในมาตราอื่นที่มิได้ระบุเป็นข้อยกเว้นไว้ใน มาตรา ๘ ผู้บังคับบัญชา
ไม่มีอำนาจพิจารณาว่าเป็นความผิดเล็กน้อยไม่สำคัญ ยกตัวอย่าง เช่น ทหารกระทำผิดตาม
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๓๘ ฐานทำร้ายผู้บังคับบัญชา กรณีเช่นนี้ ทหารผู้กระทำผิด
จะต้องถูกดำเนินคดีในศาลทหาร

การกระทำอย่างไรที่ถือว่าเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ

จะต้องพิจารณาถึง “การกระทำผิด” เป็นอันดับแรก และพิจารณาถึง “ผลที่
เกิดขึ้น” จากการกระทำนั้นเป็นลำดับต่อมา ถ้าการกระทำผิดเป็นเรื่องสำคัญ และผลที่เกิดขึ้น
จากการกระทำนั้นส่งผลเสียหายต่อทางราชการอย่างร้ายแรง เช่นนี้ ย่อมไม่ใช่เรื่องเล็กน้อยไม่
สำคัญ ผู้บังคับบัญชาไม่อาจใช้อำนาจตาม มาตรา ๘ มาลงทัณฑ์ทางวินัยแก่ผู้กระทำผิดได้ จะ
ต้องดำเนินคดีต่อผู้กระทำผิดในทางอาญาต่อไป ยกตัวอย่างเช่น ความผิดตามประมวลกฎหมาย
อาญาทหาร มาตรา ๒๑ ที่บัญญัติว่า “ผู้ใดเป็นนายเรือ ท่านใช้ให้ควบคุมเรือของทหาร และ
กระทำการหรือปล่อยให้เรือชำรุดหรืออับปางด้วยความประมาท ให้จำคุกไม่เกิน ๓ ปี” ซึ่งการ
กระทำตามมาตรานี้ก็คือ นายเรือควบคุมเรือของทหารโดยประมาท แล้วกระทำหรือปล่อยให้
เรือชำรุด ผลของการกระทำคือ ถ้าเรือนั้นชำรุดเสียหายไม่มาก ก็ย่อมพิจารณาได้ว่าเป็นการ
เล็กน้อยไม่สำคัญ แต่ถ้าการควบคุมเรือโดยประมาทนั้นเป็นผลให้เรืออับปางเสียหายทั้งลำ
เกิดผลเสียหายนับล้านบาท เช่นนี้ย่อมพิจารณาได้ว่าเป็นเรื่องสำคัญ และไม่ใช่เรื่องเล็กน้อย [1]

เจตนารมณ์ของกฎหมายที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาในการพิจารณาว่าความผิด
อาญาบางลักษณะเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็ให้ลงทัณฑ์ได้นั้น มิได้เป็นการช่วยเหลือผู้กระทำ
ผิดแต่เป็นการช่วยเหลือในด้านการปกครองบังคับบัญชาทหาร อย่างไรก็ตามการใช้อำนาจของ
ผู้บังคับบัญชาตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๘ มีข้อบัญญัติยกเว้นไว้ว่า ถ้าผู้มี
อำนาจแต่งตั้งตุลาการสั่งให้ส่งตัวผู้กระทำผิดไปดำเนินคดีในศาลทหารหรือในศาลพลเรือนตาม
กฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร ก็ให้เป็นไปตามนั้น เพราะผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการคือ
ผู้บังคับบัญชาทหาร ซึ่งได้รับมอบพระราชอำนาจจากพระมหากษัตริย์ ให้เป็นผู้แต่งตั้งและ
ถอดถอนตุลาการศาลทหารชั้นต้น [2] อันได้แก่

ก. ผบ.จทบ. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาล จทบ.

ข. ผบ.มทบ. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาล มทบ.

ค. ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยทหาร เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการศาล
ประจำหน่วยทหาร

ง. รมว.กห. เป็นผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการ ศท.ก.ท. [3]

จากข้อยกเว้นดังกล่าวจะเห็นว่าการที่จะชี้ขาดว่า การกระทำผิดอย่างใด
เป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ หรือไม่หรือควรส่งคดีฟ้องศาลนั้น กฎหมายมุ่งหมายให้ผู้มีอำนาจ
แต่งตั้งตุลาการเป็นผู้วินิจฉัยชี้ขาด ดังนั้นในทางปฏิบัติ จึงเป็นการจำเป็นที่ผู้บังคับบัญชาจะ
ต้องส่งสำนวนการสอบสวนไปยังอัยการทหาร เพื่อนำเสนอผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการเป็นผู้
วินิจฉัย โดยผู้บังคับบัญชาหาควรวินิจฉัยสั่งการเสียเองไม่ การที่ผู้บังคับบัญชาสั่งลงทัณฑ์
ทางวินัยแก่ผู้กระทำผิดในลักษณะตามมาตรา ๘ ไปก่อนนั้น หาได้ตัดอำนาจผู้มีอำนาจ
แต่งตั้งตุลาการในการที่จะส่งตัวผู้กระทำผิดไปดำเนินคดียังศาลทหารได้ เพราะความผิด
ดังกล่าวเป็นความผิดอาญาและผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการเป็นผู้ได้รับมอบพระราชอำนาจใน
ด้านศาลทหารโดยเฉพาะ ยกตัวอย่าง เช่น จำเลยมีหน้าที่เป็นนายสิบเวรกองร้อย ในระยะ
เวลาอันเป็นหน้าที่ราชการของจำเลย จำเลยได้ละทิ้งหน้าที่ออกจากกองร้อยไป ระหว่างจำเลย
ละทิ้งหน้าที่ไปได้มีคนร้ายลักเอาปืนกลเบาไป ๕ กระบอก ผู้บังคับกองร้อย และผู้บังคับกองพัน
ซึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาของจำเลยเห็นว่า การกระทำของจำเลยเป็นความผิดฐานผิดวินัย จึง
ลงทัณฑ์ขังจำเลย ๑๕ วัน จำเลยต้องขังครบ ๑๕ วันแล้ว เจ้าหน้าที่กองร้อยรับตัวออกจาก
เรือนจำ ครั้นต่อมาได้ทำการสอบสวนและฟ้องจำเลยเป็นคดีขึ้น ศาลฎีกาพิเคราะห์ว่า
ความผิดของจำเลยต้องด้วยประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๒๙ (๓) การที่จำเลยเป็น
สิบเวรกองร้อยแล้วละทิ้งหน้าที่ไป ในระหว่างจำเลยละทิ้งหน้าที่ไปได้มีคนร้ายลักเอาปืนกลเบา
ไปถึง ๕ กระบอก ย่อมไม่ใช่เป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ เพราะปืนกลเบาถึง ๕ กระบอก มีราคาสูง
ปืนเป็นอาวุธสำคัญของทหาร คำสั่งลงทัณฑ์นั้นจะอนุโลมเป็นการเปรียบเทียบคดีไม่ได้ และ
ไม่ตัดอำนาจผู้มีอำนาจแต่งตั้งตุลาการที่สั่งให้ฟ้องจำเลย [4]

คำว่า “ให้ส่งตัวผู้กระทำความผิดไปดำเนินคดีในศาลทหาร หรือจะมีการ
ดำเนินคดีนั้นในศาลพลเรือนตามกฎหมายว่าด้วยธรรมนูญศาลทหาร” นั้น หมายความว่า
เป็นคดีที่ต้องดำเนินคดีในศาลทหาร หรือศาลพลเรือนที่ทำหน้าที่เป็นศาลทหาร ในกรณีที่มีการ
ประกาศใช้กฎอัยการศึก และผู้มีอำนาจประกาศใช้กฎอัยการศึกได้มีประกาศให้ศาลพลเรือนที่
อยู่ในพื้นที่ประกาศใช้กฎอัยการศึก ทำหน้าที่เป็นศาลทหาร สำหรับพิจารณาความผิดตามที่
ระบุท้ายประกาศเท่านั้น การใช้อำนาจของผู้บังคับบัญชาในกรณีนี้ จึงไม่อาจใช้กับความผิด
ที่ต้องขึ้นศาลพลเรือน

กรณีที่เป็นความผิดลหุโทษและความผิดที่เปรียบเทียบได้

ความในประมวลกฎหมายอาญาทหาร มาตรา ๙ หมายความว่า หลักเกณฑ์
ที่ให้อำนาจผู้บังคับบัญชาพิจารณาว่าการกระทำผิดเป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญ ก็ให้ลงทัณฑ์
ทางวินัยได้ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๘ นั้น ให้นำไปใช้ในกรณีที่ทหารกระทำ
ความผิดลหุโทษ ตามที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญาหรือกฎหมายอื่นที่มีระวางโทษ
ไม่เกินความผิดลหุโทษ ตลอดจนความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย ซึ่งแยกพิจารณาได้
ดังนี้

ความผิดลหุโทษ คือ ความผิดที่ระวางโทษจำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือปรับ
ไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา ๑๐๒) ซึ่งได้แก่
ความผิดลหุโทษที่บัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา ภาค ๓ ตั้งแต่ มาตรา ๓๖๗ – ๓๙๘
รวม ๓๒ มาตรา ซึ่งบางมาตรามีเพียงโทษปรับสถานเดียว และบางมาตรามีทั้งโทษปรับและ
โทษจำคุก ความผิดลหุโทษถึงแม้จะมีโทษเพียงเล็กน้อย แต่ก็ไม่ใช่ความผิดที่ยอมความกันได้

ความผิดที่เปรียบเทียบได้ เป็นความผิดที่มีลักษณะตามที่บัญญัติไว้ใน พ.ร.บ.
การเปรียบเทียบคดีอาญา พ.ศ.๒๔๘๑ มาตรา ๔ และ พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.การเปรียบเทียบ
คดีอาญา (ฉบับที่ ๓) พ.ศ.๒๕๒๙ กล่าวคือ ในความผิดที่เป็นลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษ
ไม่สูงกว่าความลหุโทษ หรือคดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท ให้พนักงาน
สอบสวนผู้มีอำนาจสอบสวนคดีนั้น มีอำนาจเปรียบเทียบได้ตามความในประมวลกฎหมายวิธี
พิจารณาความอาญา มาตรา ๓๘ ความผิดที่เปรียบเทียบได้ตามกฎหมาย คือ ความผิดลักษณะ
ดังต่อไปนี้

ก. ความผิดลหุโทษหรือความผิดที่มีอัตราโทษอย่างสูงไม่เกินความผิดลหุโทษ
(จำคุกไม่เกิน ๑ เดือน หรือ ปรับไม่เกิน ๑,๐๐๐ บาท)

ข. คดีที่มีโทษปรับสถานเดียวอย่างสูงไม่เกิน ๑๐,๐๐๐ บาท

ค. คดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่น

ความมุ่งหมายของการเปรียบเทียบ (ปรับ) คดีอาญา ก็เพื่อให้ประชาชนทั่วไป
ได้รับความสะดวกและไม่เสียเวลาในการประกอบอาชีพ กฎหมายจึงให้อำนาจพนักงาน
สอบสวนทำการเปรียบเทียบคดีอาญาที่เป็นความผิดในลักษณะดังกล่าวได้โดยไม่ต้องนำคดี
ขึ้นสู่ศาล ในความผิดที่มีโทษปรับสถานเดียว เมื่อผู้กระทำผิดยินยอมเสียค่าปรับในอัตรา
อย่างสูงสำหรับความผิดนั้นก่อนศาลพิจารณา หรือในความผิดที่เป็นลหุโทษ หรือความผิดที่มี
อัตราโทษไม่สูงกว่าความผิดลหุโทษ หรือในคดีซึ่งเปรียบเทียบได้ตามกฎหมายอื่นนั้น เมื่อ
ผู้ต้องหาได้ชำระค่าปรับตามที่พนักงานเจ้าหน้าที่เปรียบเทียบแล้ว คดีอาญาเป็นอันเลิกกัน [5]

ความผิดทั้งสองลักษณะดังกล่าว คือ ความผิดลหุโทษและความผิดที่
เปรียบเทียบได้อันเป็นความผิดที่ผู้บังคับบัญชาสามารถลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำได้นั้น ประการแรก
จะต้องอยู่ในหลักเกณฑ์ของมาตรา ๗ เสียก่อน กล่าวคือผู้กระทำผิดต้องเป็นทหาร ประการ
ต่อมาจะต้องเป็นไปตามหลักเกณฑ์ในมาตรา ๘ ด้วย กล่าวคือ ผู้บังคับบัญชาพิจารณาเห็นว่า
เป็นการเล็กน้อยไม่สำคัญและถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหารด้วย อย่างไรก็ตาม เนื่องจาก
ความผิดลหุโทษและความผิดที่เปรียบเทียบได้ เป็นความผิดอาญาที่ไม่ร้ายแรงและมีอัตราโทษ
ไม่สูง ทั้งกฎหมายยังให้อำนาจแก่พนักงานสอบสวนทำการเปรียบเทียบได้ ซึ่งมีผลทำให้คดี
อาญาเลิกกันไปก่อนที่คดีจะขึ้นสู่ศาล ซึ่งส่วนใหญ่คดีจะระงับไปตั้งแต่ชั้นพนักงานสอบสวน
โอกาสที่คดีความผิดดังกล่าวจะมาถึงผู้บังคับบัญชาเพื่อพิจารณาใช้อำนาจตาม มาตรา ๘
จึงมีน้อยมาก

๓. เปรียบเทียบความผิดบางลักษณะของประมวลกฎหมายอาญาทหารกับ
กฎหมายว่าด้วยวินัยทหาร

กฎหมายว่าด้วยวินัยทหารเป็นกฎหมายที่บัญญัติถึงการที่ทหารต้องอยู่ในวินัย
ทหารและหากกระทำผิดวินัยก็จะถูกลงทัณฑ์ทางวินัย ส่วนประมวลกฎหมายอาญาทหารเป็น
กฎหมายที่บัญญัติถึงการกระทำที่เป็นความผิดทางอาญาซึ่งใช้บังคับแก่ทหารโดยตรง เท่ากับ
ว่ากฎหมายทั้ง ๒ ฉบับนี้มีลักษณะของการกระทำผิด และวิธีปฏิบัติต่อผู้กระทำผิดที่แตกต่าง
กันอย่างชัดเจนระหว่างความผิดทางวินัยกับความผิดทางอาญา แต่ความจริงแล้วความผิด
บางลักษณะในกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับนี้ คล้ายคลึงและใกล้เคียงกันมาก ทั้งในด้านถ้อยคำและ
ตัวบทและลักษณะของความผิด ซึ่งก่อให้เกิดความไขว้เขวในทางปฏิบัติ การกระทำอย่างใด
เป็นความผิดวินัย อย่างใดเป็นความผิดคดีอาญา และอาจก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับการ
สั่งการของผู้บังคับบัญชาทำให้คลาดเคลื่อนไม่เป็นไปตามกฎหมายได้ เช่น ความผิดฐานขัด
คำสั่งและความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ จึงขอนำตัวบทกฎหมายมาเปรียบเทียบกัน ดังนี้

ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความผิดบางลักษณะที่มีองค์ประกอบคล้ายกัน :
ฐานขัดคำสั่ง

พ.ร.บ. วินัยทหาร
ป.อาญาทหาร

มาตรา ๕ (๑) ดื้อ ขัดขืน หรือละเลย
ไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา
มาตรา ๓๐

ผู้ใดเป็นทหาร และมันขัดขืน
หรือละเลยมิกระทำตามคำสั่ง


ข้อพิจารณาเกี่ยวกับความผิดบางลักษณะที่มีองค์ประกอบคล้ายกัน :
ฐานละทิ้งหน้าที่

พ.ร.บ. วินัยทหาร
ป.อาญาทหาร

มาตรา ๕ (๕) เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
มาตรา ๒๙

ผู้ใดเป็นทหาร ท่านใช้ให้อยู่ยามรักษาการณ์ก็ดี ท่านมอบหมายให้กระทำตามบังคับ หรือคำสั่งอย่างใด ๆ ก็ดี และถ้ามันละทิ้งหน้าที่นั้นเสีย


เมื่อเปรียบเทียบลักษณะความผิดตามกฎหมายทั้ง ๒ ฉบับ ดังกล่าวมีข้อพิจารณา
ดังนี้

ก. ความผิดฐานขัดคำสั่งที่ถือว่าเป็นความผิดต่อประมวลกฎหมายอาญาทหารนั้น
ตามมาตรา ๔ บัญญัตินิยามศัพท์ คำว่า “คำสั่ง” หมายความว่า บรรดาข้อความที่ซึ่งผู้บังคับ
บัญชาทหารผู้ถืออำนาจอันสมควรเป็นผู้สั่งไปโดยสมควรแก่กาลสมัยและชอบด้วยพระราช
กำหนดกฎหมาย คำสั่งเช่นว่านี้ท่านว่า เมื่อผู้ได้รับคำสั่งนั้นได้กระทำตามแล้ว ก็เป็นอันหมด
เขตของการที่สั่งนั้น จากบทนิยามศัพท์ดังกล่าว “คำสั่ง” ตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
มีองค์ประกอบ ดังนี้

๑) เป็นคำสั่งที่ผู้บังคับบัญชา เป็นผู้สั่งโดยชอบด้วยกฎหมาย

๒) คำสั่งเช่นว่านี้ ถ้าได้กระทำตามแล้วก็เป็นอันหมดเขตของการสั่งนั้น ซึ่ง
หมายความว่าเป็นคำสั่งที่มีระยะเวลาเริ่มต้นและเวลาสิ้นสุดมิใช่คำสั่งที่มีลักษณะต้องปฏิบัติ
ตลอดไป

ดังนั้น ถ้าคำสั่งใดที่ผู้บังคับบัญชาเป็นผู้สั่ง และคำสั่งมีลักษณะดังกล่าวข้างต้น
ผู้ใต้บังคับบัญชาที่ได้รับทราบคำสั่งแล้ว ขัดขืนละเลยไม่กระทำตามคำสั่ง ก็เป็นความผิดต่อ
ประมวลกฎหมายอาญาทหาร ซึ่งเป็นคำสั่งที่มีลักษณะเจาะจง เช่น สั่งให้ใคร ทำอะไร หรือ
ปฏิบัติอะไร โดยคำสั่งดังกล่าวต้องมีการปฏิบัติและมีการสิ้นสุด เมื่อผู้ได้รับคำสั่งได้ปฏิบัติการ
ตามคำสั่งนั้นแล้ว ถือว่าเสร็จสิ้นภารกิจที่ได้รับคำสั่ง แต่ถ้าผู้บังคับบัญชาออกคำสั่งโดยไม่ชอบ
ด้วยกฎหมาย ผู้ซึ่งขัดขืนละเลยไม่ปฏิบัติตามก็ไม่มีความผิดฐานขัดคำสั่งตามประมวลกฎหมาย
อาญาทหาร นอกจากนี้ในกรณีที่ผู้บังคับบัญชาสั่งห้ามมิให้ผู้ใต้บังคับบัญชากระทำในสิ่งที่
กฎหมายบัญญัติห้ามไว้แล้ว ถ้ามีการฝ่าฝืนก็ไม่ถือว่าเป็นความผิดฐานขัดคำสั่ง ตามประมวล
กฎหมายอาญาทหาร เช่น คำสั่งของผู้บังคับบัญชาที่สั่งห้ามมิให้ยิงปืนในหมู่บ้านโดยไม่มีเหตุ
สมควร การที่จำเลยฝ่าฝืนคำสั่งดังกล่าว ไม่เป็นความผิดตามประมวลกฎหมายอาญาทหาร
เพราะถึงแม้ผู้บังคับบัญชามิได้มีคำสั่ง จำเลยก็มีหน้าที่ต้องงดเว้นไม่ฝ่าฝืนกฎหมายในเรื่องนี้
อยู่แล้ว เมื่อไม่ปรากฏว่าคำสั่งนี้ได้สั่งเพื่อประโยชน์ในราชการตามหน้าที่ของผู้สั่งแต่อย่างใด
คำสั่งนี้จึงไม่เป็นคำสั่งตามความหมายของมาตรา ๔ แห่งประมวลกฎหมายอาญาทหาร
ดังนั้น ความผิดฐานขัดคำสั่งในกรณีนี้ จึงต้องตีความคำสั่ง “คำสั่ง” โดยเคร่งครัดตามบท
นิยามศัพท์ เพราะเป็นความผิดทางอาญา

ข) ส่วนความผิดฐานขัดคำสั่งที่ถือว่าเป็นความผิดต่อวินัยทหารไม่มีบทนิยาม
ศัพท์อธิบายคำว่า คำสั่ง ไว้ชัดเจน เช่น ความผิดทางอาญา ดังนั้น หากผู้บังคับบัญชามีคำสั่ง
โดยชอบด้วยกฎหมาย แม้เป็นการสั่งการแก่ทหารทั่วไป ซึ่งคำสั่งนั้นมิได้มีลักษณะเฉพาะ
เจาะจงต่อทหารผู้ใดผู้หนึ่ง ทั้งยังเป็นคำสั่งที่ใช้ได้ตลอดไปโดยไม่มีระยะเวลาสิ้นสุด ยกเว้น
จะมีการยกเลิก เช่นนี้ ทหารที่ขัดขืนละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งในลักษณะหลังนี้ถือว่าเป็น
ความผิดต่อวินัยทหาร แต่ไม่เป็นความผิดอาญา เช่น คำสั่ง กห. ที่ ๑๔๔/๓๕ เรื่อง จำกัด
การเสพสุราของข้าราชการ ลง ๑๗ ก.พ.๓๕ (ผนวก ฎ.) ซึ่งใช้บังคับแก่ข้าราชการทหารและ
ลูกจ้าง โดยมีคำสั่งเกี่ยวกับการจำกัดการเสพสุรา เพื่อป้องกันมิให้ผู้ที่นิยมการเสพสุราไป
ก่อคดีอาญา อันนำมาซึ่งความเสื่อมเกียรติแก่ทางราชการ

ค) สำหรับความผิดฐานละทิ้งหน้าที่ในส่วนของกฎหมายวินัยทหาร บัญญัติว่า
ละทิ้งต่อหน้าที่ราชการ ซึ่งหมายถึงหน้าที่ราชการที่ได้รับมอบ อันเป็นความหมายที่กล่าวไว้
กว้าง ๆ แต่ในส่วนของกฎหมายอาญาทหาร บัญญัติว่า ทหารซึ่งเป็นยามรักษาการณ์หรือ
ได้รับมอบหมายให้กระทำตามบังคับหรือคำสั่งอย่างใด ๆ ถ้าละทิ้งหน้าที่นั้นเสีย ดังนั้น
คำว่าละทิ้งหน้าที่ในความหมายของกฎหมายอาญาทหาร จึงหมายรวมถึง หน้าที่ยาม
รักษาการณ์ หน้าที่ที่ได้รับมอบให้ทำตามบังคับหรือทำตามคำสั่งอย่างใด ๆ แล้วได้ละทิ้ง
หน้าที่ ไปอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงถือเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาทหารเมื่อพิจารณาถึง
ลักษณะความผิดทางอาญาซึ่งบัญญัติไว้เฉพาะส่วนการละทิ้งหน้าที่ตามกฎหมายว่าด้วย
วินัยทหาร ได้กล่าวไว้กว้าง ๆ โดยมิได้เจาะจงแต่ก็มีข้อความคล้ายคลึงกับความผิด
ทางอาญา การที่จะพิจารณาว่าละทิ้งหน้าที่อย่างใดเป็นความผิดทางวินัย และละทิ้งหน้าที่
อย่างใดเป็นความผิดทางอาญา ก่อนอื่นต้องพิจารณาว่าหน้าที่นั้นมีความสำคัญมากน้อย
เพียงใดหรือไม่ ประการต่อมา ผลการละทิ้งหน้าที่ก่อให้เกิดผลเสียหายเล็กน้อยหรือเสียหาย
อย่างร้ายแรงต่อทางราชการ ซึ่งถ้าเป็นหน้าที่ที่ไม่สำคัญ และการละทิ้งหน้าที่ไปไม่ก่อให้เกิด
ผลเสียหายหรือเสียหายเพียงเล็กน้อย ก็เป็นเพียงความผิดต่อวินัยทหาร แต่ถ้าหากเป็น
หน้าที่ที่มีความจำเป็นและสำคัญ ทั้งผลของการละทิ้งหน้าที่ไปนั้นทำให้เกิดความเสียหาย
อย่างร้ายแรงต่อทางราชการแล้ว ย่อมเป็นความผิดต่อกฎหมายอาญาทหาร.
Google