วันศุกร์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2552

มู-ทัว


กล่าวทั่วไป
1. MOOTW อ่านว่า มู-ทัว ย่อมาจาก Military Operations Other Than War แปลเป็นไทย คือ การปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม บทความนี้ เสนอมุมมองเรื่อง บทบาทของกองทัพไทยที่เกี่ยวข้องกับ MOOTW
2. การปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากสงคราม เริ่มเป็นที่สนใจ มีการกล่าวถึงและอภิปรายกันอย่างกว้างขวาง เมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว หลังยุคสงครามเย็นยุติลง ซึ่งเดิมนั้น การปฏิบัติการทางทหาร หรือภารกิจ ที่กองทัพได้รับมอบจากประเทศชาติ คือ การปฏิบัติการรบ หรือการทำสงคราม ดังนั้น การเตรียมกำลัง และการใช้กำลังของกองทัพในยุคสงครามเย็น จึงมุ่งเน้นสำหรับการทำสงครามเป็นหลักทั้งสิ้น เพื่อให้กำลังทหารสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการป้องปรามฝ่ายตรงข้าม และทำการรบเพื่อป้องกันประเทศ เมื่อการป้องปรามล้มเหลวและถูกรุกรานด้วยกำลังทหารจากภายนอก (แต่บางประเทศ ได้ใช้กำลังทหารรุกรานชาติอื่น เพื่อผลประโยชน์แห่งชาติตน) ดังนั้น การดำเนินงานของกองทัพในเรื่องต่างๆ เช่น โครงสร้างกำลัง หลักนิยม การฝึกศึกษา และการซ้อมรบ จึงเน้นไปที่การปฏิบัติการรบ ด้วยการตั้งรับ การรุก และการปฏิบัติการภายใต้สภาพพิเศษทั้งปวง การปฏิบัติการเหล่านี้ คือ การสงครามตามแบบ (Conventional Warfare) นั่นเอง นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการทำการรบนอกแบบ การสงครามพิเศษ และการสงครามกองโจรประกอบด้วย เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติการสงครามตามแบบ ให้ฝ่ายเราได้รับชัยชนะอย่างเฉียบขาด และรวดเร็ว 3. เมื่อสงครามเย็นจบสิ้นลง สถานการณ์และสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์ รวมทั้งรูปแบบภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติเปลี่ยนแปลงไป ดูเหมือนว่า รัฐน่าจะหมดความจำเป็นที่จะใช้กำลังทหารในการทำสงคราม เนื่องจาก ภัยคุกคามทางทหารแทบจะไม่มีเหลืออยู่เลย โอกาสที่จะเกิดสงครามน้อยมาก ยกเว้นแต่ สงครามอ่าวเปอร์เซีย และการรบที่จำกัดด้วยกำลังและพื้นที่ ในบางภูมิภาคของโลกที่ยังคงมีเหลืออยู่บ้าง ซึ่งสถานการณ์ส่วนใหญ่ จะเป็นเพียงความขัดแย้งระดับต่ำ ที่จำเป็นต้องใช้กำลังทหาร เข้าไปเพื่อการป้องปราม ลดโอกาสการเกิดสงคราม และยุติความขัดแย้ง หรือ ทำหน้าที่เป็นตำรวจ เข้าไปรักษาความสงบเรียบร้อย รักษาสันติภาพ ในลักษณะเป็นกรรมการห้ามศึก หรือ เป็นผู้ช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ต่อผู้ประสบเคราะห์กรรมจากความขัดแย้งทั้งปวง นักการทหาร ได้พยายามกำหนดนิยามการใช้กำลังทหารในลักษณะต่างๆ และหลักนิยมขึ้นใหม่หลายประการ เพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์เหล่านี้ เช่น การใช้กำลังทหารในสถานการณ์ตามระดับความขัดแย้ง ที่แบ่งออกเป็น ความขัดแย้งระดับต่ำ (Low-intensity Conflicts) ไปจนถึง ความขัดแย้งระดับปานกลาง และ ความขัดแย้งระดับสูง (High-intensity Conflicts) อย่างไรก็ตาม การกำหนดขอบเขตของแต่ละระดับความขัดแย้ง ก็ยังไม่ชัดเจนนัก นอกจากนี้ กำลังทหารที่เคยเตรียมไว้ใช้เฉพาะสำหรับการทำสงคราม ซึ่งก็คือ ในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับสูง ก็ถูกนำมาใช้ในสถานการณ์ความขัดแย้งระดับต่ำ แม้จะเป็นระดับการใช้กำลังจะต่ำกว่า แต่ก็อันตรายและเสี่ยงพอสมควร การศึกษาและถกแถลงเรื่องนี้ยังคงดำรงอยู่ต่อไป
4. พลเอกแอริก ชินเซกิ เสนาธิการทหารบกสหรัฐอเมริกา กล่าวไว้ตอนหนึ่งระหว่างการบรรยายพิเศษ ในการประชุมผู้บัญชาการทหารบกอาเซียน ครั้งที่ 1 (ASEAN Chiefs of Armies Multilateral Meeting I : ACAMM I) ที่ประเทศไทย เมื่อ 21 พฤศจิกายน 2543 ว่า "In the ten years since the Cold War ended, we (the United States Army) have been asked to deploy forces around the globe to perform a number of missions that we rarely planned for during the cold war…." ตัวอย่างภารกิจดังกล่าว คือ Disaster Relief, Demining, Counter-narcotics, และ Peacekeeping Operations.
5. อย่างไรก็ตาม แม้จะมีภารกิจรูปแบบใหม่ที่กองทัพได้รับมอบมากขึ้น แต่กำลังทหารจะลืมภารกิจหลัก คือ การทำสงคราม ไม่ได้ เพราะสถานการณ์และภัยคุกคามยังไม่แน่นอน ความจำเป็นต้องใช้กำลังทหารสำหรับการทำสงครามอาจจะเกิดขึ้นเมื่อไรก็ได้ และภารกิจการทำสงครามนี้ หากไม่เตรียมการให้พร้อมแล้ว เมื่อต้องปฏิบัติ ก็ยากที่จะประสบชัยชนะได้ หรือ แม้จะได้รับชัยชนะ แต่ก็คงเป็นที่แน่นอนว่า จะต้องมีการสูญเสียทั้งคนและทรัพย์สินอย่างมากมาย ดังนั้น ประเทศชาติยังจำเป็นต้องมีกำลังทหารไว้เพื่อป้องกันประเทศอย่างแน่นอน แต่คำถามสำคัญ คือ ประเทศควรจะมีกำลังทหารไว้จำนวนเท่าไร และไว้ทำอะไรบ้าง สำหรับใช้ในทุกภารกิจ ทั้งการทำสงครามและภารกิจอื่นนอกเหนือจากสงคราม ใช่หรือไม่ หากคำตอบคือใช่แล้ว จะต้องเตรียมกำลังทหารอย่างไร จึงจะเป็นหลักประกันความมั่นคงของชาติและการป้องกันประเทศในยามสงคราม พร้อมทั้งมีขีดความสามารถที่จะปฏิบัติได้ทุกภารกิจและทุกระดับความขัดแย้งของสถานการณ์
รูปแบบภัยคุกคาม
6. เมื่อ ภัยคุกคาม คือ ปัญหาอุปสรรคของชาติ หรือ พลังอำนาจ ที่สามารถทำลายความมั่นคงของชาติ รวมทั้ง เอกราชอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศได้แล้ว รูปแบบภัยคุกคาม จึงเป็นปัจจัยสำคัญในการกำหนดบทบาทและภารกิจของทหาร เดิมนั้น ภัยคุกคามทางทหาร (Military Threat) คือ ภัยคุกคามหลักต่อความมั่นคงของชาติ กองทัพในฐานะเครื่องมือของรัฐ จึงมีภารกิจหลักในการลด ป้องปราม ป้องกัน และทำลาย ภัยคุกคามที่อาจเกิดขึ้นจากการรุกรานด้วยกำลังทหารจากภายนอก ไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็แล้วแต่ บทบาทของทหารอันนี้ จึงถือเป็น บทบาทดั้งเดิม (Traditional Roles) ที่ทหารถูกใช้ในการป้องกันประเทศในยุคสงครามเย็น
7. แต่ในปัจจุบัน และแนวโน้มในอนาคต 5 ถึง 10 ปีข้างหน้า แม้สถานการณ์ทางยุทธศาสตร์ ยังคงเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน แต่ภัยคุกคามจากการใช้กำลังทหารแทบไม่มีเลย หรือไม่น่าเกิดขึ้น ในขณะที่ภัยคุกคามรูปแบบอื่นๆ ที่มิใช่ภัยคุกคามทางทหาร (Non - military Threat ) กลับปรากฏขึ้นโดยทั่วไป ซึ่งแม้จะยังไม่รุนแรงจนทำให้ประเทศชาติต้องสูญเสียเอกราชอธิปไตย หรือบูรณภาพแห่งดินแดน แต่หากไม่มีการจัดการภัยคุกคามเหล่านี้ให้หมดไปแล้ว ย่อมจะขยายตัวและส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติได้เช่นกัน ดังนั้น การพิจารณาภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ จึงต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน ครบถ้วนทุกรูปแบบ ในลักษณะของความมั่นคงเบ็ดเสร็จ (Comprehensive Security) ครอบคลุมทั้งความมั่นคงด้านเศรษฐกิจ การเมือง สังคมจิตวิทยา วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี สิ่งแวดล้อม และการทหาร ไปพร้อมๆกัน นอกจากนี้ยังต้องพิจารณาความมั่นคงแบบองค์รวม (Holistic) ด้วย คือพิจารณาความมั่นคงทุกระดับ ตั้งแต่ความมั่นคงปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินส่วนบุคคล ไปจนถึง ความมั่นคงของชุมชน ของชาติ ของภูมิภาค และของโลก เนื่องจากปัญหาความมั่นคงเบ็ดเสร็จนี้ ส่วนใหญ่จะเป็นปัญหาความมั่นคงข้ามชาติ (Transnational Security) ที่แม้จะเริ่มจากจุดใดจุดหนึ่งของโลก แต่ก็มีศักยภาพที่จะส่งผลกระทบอย่างกว้างขวาง โดยไม่คำนึงถึงอุปสรรคของพรมแดน จนกลายเป็นปัญหาระหว่างชาติ และของโลกได้ 8. ปัญหาความมั่นคงข้ามชาติเหล่านี้ ได้แก่ ยาเสพติด การก่อการร้าย การลักลอบค้าคน และของผิดกฎหมาย โจรสลัด โรคติดต่อร้ายแรง อาชญากรรมข้ามชาติ โลกาภิวัตน์ และความเสื่อมโทรมของสภาพแวดล้อม เป็นต้น แม้แต่ปัญหาการขัดแย้งทางการเมือง สงครามกลางเมือง และการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศใดประเทศหนึ่ง ก็อาจส่งผลกระทบต่อประเทศอื่น รวมทั้งความมั่นคงและเสถียรภาพของภูมิภาคและของโลกได้ ตามที่ประเทศไทยกำลังประสบอยู่ในปัจจุบัน โดยเฉพาะชายแดนด้านตะวันตก ในปัญหายาเสพติด การลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย และการรุกล้ำอธิปไตย เป็นต้น
9. เมื่อภัยคุกคามมีหลากหลายรูปแบบ รัฐจึงต้องใช้เครื่องมือที่มีอยู่ จัดการภัยคุกคามเหล่านี้ ทั้งด้วยการลด ป้องปราม และป้องกัน พร้อมกับ การเสริมสร้างพลังอำนาจทุกประเภท ไว้ทำลายภัยคุกคามเหล่านี้ให้หมดไป เครื่องมือของรัฐมีหลายประเภท กำลังทหารก็เป็นเครื่องมือหนึ่งที่รัฐสามารถใช้ได้ โดยเตรียมเอาไว้ต่อสู้กับภัยคุกคามทางทหารเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่กำลังทหารเป็นเครื่องมือที่มีความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งกำลังคนและเครื่องมือยุทโธปกรณ์ และมีระเบียบวินัย รัฐอาจพิจารณาใช้ทหารจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบอื่นได้ อันจะเป็นบทบาทที่ไม่ใช่บทบาทดั้งเดิมของทหาร (Non - traditional Roles) ทั้งนี้ระดับความจำเป็นของการใช้กำลังทหารในบทบาทอื่นที่มิใช่การรบนี้ ขึ้นอยู่กับระดับการพัฒนาประเทศ และความเกี่ยวข้องหรือความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับพลเรือน ประเทศใดที่ด้อยพัฒนา ก็มักจะไม่มีเครื่องมืออื่นๆ เช่น ระบบการเมืองการปกครอง องค์กรด้านการศึกษา ด้านสาธารณสุข และการรักษาความมั่นคงภายใน ที่พร้อมมูลและมีศักยภาพเพียงพอที่จะจัดการกับภัยคุกคามรูปแบบอื่นๆ ที่มิใช่การทหารได้ ก็จำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าไปช่วยจัดการ เมื่อใดที่ประเทศได้พัฒนาไปจนระบบการเมืองการปกครอง องค์กรด้านความมั่นคงภายใน การสาธารณสุข และการศึกษา มีความเข้มแข็งและมีความพร้อมแล้ว ก็จะสามารถใช้จัดการภัยคุกคามเหล่านี้ได้ ซึ่งเป็นเรื่องที่ถูกต้องและเหมาะสม และเมื่อนั้น ความจำเป็นต้องใช้กำลังทหาร สำหรับภารกิจอื่นนอกเหนือจากการสงคราม ก็จะหมดไป
10. สำหรับประเทศไทยนั้นเป็นประเทศกำลังพัฒนา องค์กรด้านการเมืองการปกครองและรักษาความมั่นคงภายใน องค์กรด้านสาธารณสุข การศึกษา และองค์กรที่มีหน้าที่ในการพัฒนาประเทศ ได้รับการพัฒนาให้เข้มแข็งขึ้นมาโดยต่อเนื่อง ซึ่งในปัจจุบันอาจยังไม่สามารถจัดการกับภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติ รูปแบบอื่นที่มิใช่ภัยคุกคามทางทหาร ได้อย่างเด็ดขาด นอกจากนี้ ทหารกับพลเรือนยังมีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันค่อนข้างมาก แม้กองทัพจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง แต่ก็ยังไม่สามารถแยกทหารออกจากการเมือง สังคม และความเป็นไปด้านอื่นๆ ภายในประเทศได้อย่างสมบูรณ์ กองทัพจึงจำเป็นต้องรับภาระหน้าที่ในบทบาทอื่นๆ นอกเหนือจากการรบและการป้องกันประเทศต่อไป ซึ่งบทบาทเหล่านี้เป็นการปฏิบัติการทางทหารนอกเหนือจากการสงคราม (MOOTW) ทั้งสิ้น อย่างน้อยก็ต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง ช่วยเหลือ และให้การสนับสนุนบ้าง แม้จะมิใช่หน้าที่โดยตรงก็ตาม เช่น บทบาทในการช่วยพัฒนาประเทศ เป็นต้น ตราบใดที่ประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศยังยากจนอยู่ ความมั่นคงของชาติก็ย่อมจะไม่เกิดขึ้น และเมื่อใดที่ความยากจนของประชาชนหมดไป และองค์กรของรัฐอื่นๆ ที่มีหน้าที่โดยตรง สามารถจัดการกับปัญหาเหล่านี้ได้ ความมั่นคงภายในของชาติก็ย่อมจะเกิดขึ้น ในที่สุดบทบาทของทหาร ก็จะมีเพียง ภารกิจในการสงคราม เพื่อการป้องกันประเทศเท่านั้น
11. ยาเสพติด นับว่าเป็นปัญหาสำคัญ และเป็นภัยคุกคามที่ร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ ที่ต้องเร่งจัดการทำลายล้างให้หมดไปจากแผ่นดินไทยโดยเร็ว ในขณะนี้เครื่องมือของรัฐที่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการต่อปัญหายาเสพติด เช่น ตำรวจ ซึ่งมีหน้าที่ในการป้องกันและปราบปราม องค์การด้านสาธารณสุข ซึ่งมีหน้าที่ในการบำบัดรักษา ฟื้นฟู และองค์กรด้านการศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ให้ความรู้แก่คนไทยถึงโทษภัยของยาเสพติด เพื่อป้องกันมิให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติด และองค์กรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอีกหลายหน่วย กองทัพแม้จะเป็นเครื่องมือหนึ่งของรัฐ แต่ก็ไม่มีหน้าที่โดยตรงในการจัดการแก้ปัญหายาเสพติด แต่เมื่อยาเสพติดเป็นปัญหาร้ายแรงต่อความมั่นคงชาติ รวมทั้งองค์กรอื่นๆ ยังไม่มีขีดความสามารถเพียงพอ และพร้อมที่จัดการกับปัญหานี้ได้อย่างเด็ดขาด รัฐจึงได้มอบหมายให้กองทัพเข้าไปช่วยในเรื่องนี้ด้วย ซึ่งกองทัพก็พร้อมและเต็มใจที่จะเข้าไปดำเนินการ อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือ กองทัพเตรียมกำลังทหารไว้สำหรับการรบ มิใช่สำหรับภารกิจในการป้องกัน ปราบปราม ยาเสพติด ดังนั้น การปฏิบัติภารกิจอื่นที่มิใช่การรบ นั้น แม้อาจจะกระทำได้ แต่ถ้าจะให้ดี ก็ควรมีการฝึกศึกษา และการจัดหายุทโธปกรณ์พิเศษบางประการเพิ่มเติมให้ ซึ่งกองทัพก็ได้เร่งดำเนินการอยู่ ทั้งนี้รวมถึงการปฏิบัติภารกิจอื่น ๆ ด้วย เช่น การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ที่กำลังทหารจำเป็นต้องได้รับการฝึกศึกษาเพิ่มเติม จึงจะสามารถปฏิบัติภารกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีความเสี่ยงต่อการสูญเสียน้อย และสำเร็จลุล่วงด้วยดี ขอบเขตและระดับความรุนแรงของการปฏิบัติการทางทหาร
12. นักการทหารสหรัฐฯ ได้แบ่งลักษณะการปฏิบัติการของทหาร ระดับความรุนแรง ขอบเขต และความทับซ้อนกัน ตามภาพข้างล่าง

ลักษณะและระดับความรุนแรงของการปฏิบัติการทางทหาร
13. บทบาทของทหารในการปฏิบัติภารกิจเพื่อประเทศชาตินั้น ครอบคลุม ลักษณะ รูปแบบ และระดับความเข้มข้นหรือรุนแรงของการปฏิบัติกว้างขวางมาก แต่โดยทั่วไปแล้วสามารถจำแนกการปฏิบัติการของทหาร เป็นสองประเภทที่ทับซ้อนกัน คือ
13.1 การปฏิบัติการทางทหารในสงคราม (War) ซึ่งกองทัพต้องสามารถดำรงความเป็นหนึ่ง และต้องไม่แพ้ใครในสนามรบ
13.2 การปฏิบัติการอื่นๆ ในยามสงบ (Peace) ซึ่งกองทัพต้องแสดงพลังอำนาจ ให้เป็นที่น่าเชื่อถือ และน่าเกรงขาม สามารถป้องปราม บังคับและชักจูงให้เกิดความสงบ และดำรงไว้ซึ่งสันติภาพได้
14. การปฏิบัติการทางทหารในสงคราม มีระดับความรุนแรงของการปฏิบัติ ด้วยการใช้กำลังตั้งแต่ขนาดเบาไปหนัก ดังนี้
14.1 การจู่โจม (Raids) เป็น การใช้กำลังทหารในการตรวจค้นและทำลายเป้าหมายเฉพาะและจำกัด อย่างจู่โจม ด้วยกำลังทางอากาศ อาวุธระยะไกลหรือกำลังปฏิบัติการพิเศษ
14.2 การโจมตี (Strikes) เป็น การใช้กำลังทหารในการโจมตีทำลายเป้าหมาย ด้วยกำลังทางอากาศ หรืออาวุธระยะไกล มีลักษณะการปฏิบัติใกล้เคียงกับ Raids
14.3 การกบฏ และการต่อต้านการก่อความไม่สงบ (Insurgencies, Counter Insurgencies) การสนับสนุนมิตรประเทศในการปฏิบัติการเพื่อโค่นล้มรัฐบาลที่ไม่มีความชอบธรรม หรือไม่เป็นประชาธิปไตย และการต่อต้านการก่อความไม่สงบของกลุ่มต่อต้านต่างๆ ที่กระทำต่อรัฐบาลที่ชอบธรรมและเป็นประชาธิปไตย
14.4 การรบตามแบบในความขัดแย้งอย่างจำกัด (Limited Conventional Conflict) การใช้กำลังทหาร และไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ ในการรบตามแบบ เพื่อแก้ปัญหาความขัดแย้งระดับต่ำ และจำกัดพื้นที่และกำลัง
14.5 สงครามตามแบบเฉพาะภูมิภาค (Regional Conventional War) การใช้กำลังทหาร และไม่ใช้อาวุธนิวเคลียร์ สำหรับการรบตามแบบ ในสงครามจำกัดเฉพาะภูมิภาคหนึ่ง
14.6 สงครามนิวเคลียร์ทางยุทธวิธี (Tactical Nuclear War) การใช้กำลังทหาร และอาวุธนิวเคลียร์ ในการปฏิบัติการระดับยุทธวิธี หรือในการรบปะทะที่จำกัดสนามรบ
14.7 สงครามโลก (Global Conventional War) การใช้พลังอำนาจทั้งสิ้น โดยเฉพาะ พลังอำนาจทางทหาร สำหรับการรบในสงครามที่เกิดขึ้นทั่วโลก แต่ไม่มีการใช้อาวุธนิวเคลียร์
14.8 สงครามนิวเคลียร์ทางยุทธศาสตร์ (Strategic Nuclear War) การใช้กำลังทหารและอาวุธนิวเคลียร์ เพื่อวัตถุประสงค์ในระดับยุทธศาสตร์ หรือทำลายเป้าหมายทางยุทธศาสตร์
15. การปฏิบัติการอื่นๆ ในยามสงบ มี ดังนี้
15.1 การบรรเทาภัยพิบัติภายในประเทศ (Domestic Disaster Relief) การใช้กำลังทหาร เพื่อการบรรเทาภัยพิบัติ และการช่วยเหลือประชาชนที่ประสบสาธารณะภัยต่างๆ ภายในประเทศ
15.2 การปฏิบัติการเพื่อสิ่งแวดล้อม (Environmental Operations) การใช้กำลังทหาร ในการอนุรักษ์ และฟื้นฟู ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
15.3 การสนับสนุนส่วนราชการพลเรือนภายในประเทศ (Domestic Civil Support) การใช้กำลังทหารสนับสนุนอำนาจรัฐหรือส่วนราชการพลเรือน ในการแก้ปัญหาหรือวิกฤตการณ์ภายในประเทศ
15.4 ความสัมพันธ์ระหว่างทหารกับทหาร (Military to Military Contacts) การใช้กำลังทหาร ในการสร้างสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศ ด้วยการดำรงการติดต่อสัมพันธ์ระหว่างกองทัพ การฝึกซ้อมรบร่วม และการให้ความช่วยเหลือทางทหารรูปแบบต่างๆ
15.5 การควบคุมอาวุธ (Arms Control) การใช้พลังอำนาจทางทหารในการควบคุม บังคับ หรือโน้มน้าว มิให้ประเทศต่างๆ แข่งขันกันสร้างสมอาวุธและพลังอำนาจทางทหาร อันอาจนำไปสู่ความไม่ไว้วางใจและความขัดแย้งจนใช้กำลังทหารได้ รวมถึง การควบคุมการแพร่กระจายของอาวุธที่มีอำนาจการทำลายล้างสูง (Control of Proliferation of Weapons of Mass Destruction) การลักลอบค้าอาวุธเถื่อนและถ่ายทอดเทคโนโลยีด้านการป้องกันประเทศ และการดำรงกำลังทหารและพันธมิตรในบางภูมิภาค
15.6 การช่วยเหลือด้านมนุษยธรรม (Humanitarian Assistance) การใช้กำลังทหารในการปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือทางด้านมนุษยธรรม รวมทั้งการบรรเทาภัยพิบัติในต่างประเทศ
15.7 การช่วยเหลือด้านความมั่นคง (Security Assistance) การใช้กำลังทหาร เพื่อดำรงไว้ซึ่งความมั่นคงของมิตรประเทศและภูมิภาค
15.8 การต่อต้านยาเสพติด (Counter Drug) การใช้กำลังทหารในการต่อต้าน ป้องกัน และปราบปรามยาเสพติด
15.9 การแสดงกำลัง (Show of Force) การแสดงพลังอำนาจทางทหาร และการใช้กำลังทหาร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้แก่มิตรประเทศ ในขีดความสามารถและความเต็มใจที่จะปฏิบัติตามข้อตกลงระหว่างประเทศ
15.10 การปฏิบัติการเพื่อสันติภาพ (Peace Operations) ครอบคลุมการปฏิบัติการ ๕ ประเภท คือ Preventive Diplomacy, Peace Making, Peace Building, Peace Keeping, และ Peace Enforcement
15.11 การปฏิบัติการอพยพพลเรือน (Non-combatant Evacuation Operations) การใช้กำลังทหาร เพื่ออพยพพลเรือน หรือบุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการรบ ออกจากพื้นที่การสู้รบ หรือพื้นที่ที่มีความขัดแย้งอย่างรุนแรง
15.12 การต่อต้านการก่อการร้าย (Counter Terrorism) การใช้กำลังทหารสนับสนุนการปฏิบัติงานของส่วนราชการพลเรือน ในการต่อต้านการก่อการร้าย
15.13 การใช้กำลังบังคับเพื่อสันติภาพ (Peace Enforcement) การใช้กำลังทหาร เพื่อบังคับให้คู่กรณีที่ขัดแย้ง หรือทำสงครามกัน มาร่วมโต๊ะเจราจา และเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหาความขัดแย้งด้วยสันติวิธี
16. ระดับการใช้กำลังทหารที่ทับซ้อนกันระหว่างการปฏิบัติการอื่นๆ ในยามปกติ และการปฏิบัติการทางทหารในยามสงคราม ซึ่งอาจนับได้ว่าเป็นการปฏิบัติการในความขัดแย้งระดับต่ำ (Low Intensity Conflict) มีดังนี้ การปฏิบัติการอพยพพลเรือน การต่อต้านการก่อการร้าย การใช้กำลังบังคับเพื่อสันติภาพ การจู่โจม การโจมตี การกบฎและการต่อต้านการก่อความไม่สงบ และการปฏิบัติการในความขัดแย้งอย่างจำกัด
การใช้พลังอำนาจทางทหาร และแนวความคิดการพัฒนากองทัพบกสหรัฐฯ ในศตวรรษที่ 21
17. การยุติลงของสงครามเย็น และการปฏิวัติกิจการทางทหาร (Revolution in Military Affairs) ในยุคข้อมูลข่าวสาร อันเนื่องมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสารสนเทศและการโทรคมนาคม ทำให้มีการอภิปรายและโต้เถียงกันอย่างกว้างขวางในสหรัฐอเมริกา ในเรื่องการใช้พลังอำนาจทางทหารในฐานะเครื่องมือของรัฐ ว่า กองทัพควรมีหน้าที่การรบในสงครามเพียงประการเดียว หรือ กองทัพควรทำหน้าที่อื่นๆ ที่มิใช่การรบในสงครามเพิ่มเติมด้วย
18. ในยุคสงครามเย็น โครงสร้างกำลังกองทัพและหลักนิยมได้มุ่งเน้นที่ขีดความสามารถด้านการรบและการป้องปรามมิให้เกิดสงคราม เป็นหลัก ชาวอเมริกันบางกลุ่ม มีความเห็นอย่างหนักแน่นว่า กองทัพอเมริกัน ควรมีไว้เพื่อการรบให้ได้ชัยชนะในสงครามของประเทศเท่านั้น และกองทัพควรจะมีการจัดกำลังและยุทโธปกรณ์ และการฝึก สำหรับไว้ทำการรบเท่านั้นด้วย คนกลุ่มนี้มีความเชื่อว่า การมอบภารกิจอื่นๆที่มิใช่การรบ - เช่น การรักษาสันติภาพ การปฏิบัติการเพื่อมนุษยธรรม - จะเป็นการลดขีดความสามารถของกองทัพในการรบเพื่อการป้องกันประเทศ ลดความพร้อมรบ และจะเป็นการส่งสัญญาณที่ไม่ถูกต้อง ให้แก่ผู้ที่มีศักยภาพและต้องการเป็นฝ่ายตรงข้ามกับสหรัฐฯ
19. อย่างไรก็ตาม ยังมีอเมริกันอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่เห็นด้วยว่ากองทัพควรมีไว้สำหรับการรบเท่านั้น อเมริกันกลุ่มนี้มีความเห็นว่า กองทัพสหรัฐฯ หลังยุคสงครามเย็น จะต้องมีความอ่อนตัวมากขึ้นในเรื่อง โครงสร้างการจัด อาวุธยุทโธปกรณ์ การฝึก และแนวความคิดหรือทิศทางในการดำเนินงาน ซึ่ง นอกจากกองทัพจะเตรียมการไว้ทำการรบเพื่อป้องกันประเทศแล้ว ยังจะต้องทำตัวให้เป็นประโยชน์มากขึ้น ด้วยการทำงานอื่นๆ ด้วย โดยให้มีขีดความสามารถหลากหลาย ครอบคลุมตั้งแต่ การสร้างความสัมพันธ์ทางทหาร เพื่อสนับสนุนโครงการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างประเทศของรัฐบาล การปฏิบัติการช่วยเหลือทางมนุษยธรรม และการพัฒนาประเทศ ไปจนถึง การรักษาสันติภาพ การบังคับให้เกิดสันติภาพ และ การรบในความขัดแย้งระดับสูง พวกเขามีความเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ กองทัพสหรัฐฯ จะไม่ต้องทำการรบในสงครามขนาดใหญ่และเนื่องจากประเทศต้องใช้งบประมาณจำนวนมหาศาลในด้านการทหาร พวกเขาจึงมีความรู้สึกว่า ควรใช้กองทัพให้สมกับเงินที่ต้องใช้ไป โดยเฉพาะเมื่อกองทัพมีขีดความสามารถพร้อม สำหรับให้ผู้ถืออำนาจรัฐ และผู้กำหนดหรือดำเนินนโยบายต่างประเทศ สามารถใช้เป็นเครื่องมือในการบรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของนโยบายต่างประเทศได้ เป็นการใช้ยุทธศาสตร์ทหารให้บรรลุซึ่งวัตถุประสงค์ของชาติ นอกเหนือจากการใช้ยุทธศาสตร์ทางการเมือง เศรษฐกิจ และด้านอื่นๆ ของประเทศ
20. ข้อต่อรองที่สำคัญ คือ การที่ความจำเป็นต้องใช้กองทัพเพื่อการรบมีเหลือน้อยมากแล้ว ยังมีการปฏิวัติกิจการทางทหาร ที่ส่งผลให้อาวุธยุทโธปกรณ์มีความทันสมัย มีความแม่นยำ และมีขีดความสามารถในการทำลายสูง ทำให้ สามารถลดกำลังทหารลงได้เป็นจำนวนมาก หากกองทัพไม่จำเป็นต้องรับภารกิจอื่นนอกเหนือจากการรบแล้ว กองทัพก็จะต้องลดขนาดลง
21. สำหรับกองทัพบกสหรัฐฯ นั้น ก็อยู่ระหว่างการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนเช่นเดียวกัน เพื่อให้เหมาะสมกับสถานการณ์ ในยุคสงครามเย็น กองทัพบกสหรัฐฯ ได้เตรียมกำลังขนาดใหญ่ไว้สำหรับการรบทางบกในยุโรปกลาง แต่มิได้ใช้เลยจนกระทั้งสงครามเย็นยุติลง ภายหลังกลับต้องส่งกำลังไปรบในสงครามอ่าวเปอร์เซีย ที่มีสถานการณ์และลักษณะพื้นที่ปฏิบัติแตกต่างออกไป บทเรียนคือ กองกำลังขนาดหนัก (Tank Division) ที่เตรียมไว้ ไม่สามารถตอบสนองความต้องการและความจำเป็นทางยุทธศาสตร์ได้ ในขณะที่กองกำลังขนาดเบา กลับขาดอำนาจการทำลายและความสามารถในการดำรงชีพในสถานการณ์ความขัดแย้งได้
22. กองทัพบกสหรัฐฯ จึงได้ตกลงใจที่จะดำเนินการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนกองทัพอย่างเบ็ดเสร็จ เพื่อให้ได้กำลังทหารที่สามารถตอบสนองสถานการณ์และปฏิบัติภารกิจได้หลากหลาย เป็นกองกำลังทางยุทธศาสตร์ที่สามารถส่งไปรบได้เมื่อจำเป็น แต่ในขณะเดียวกันก็มีขีดความสามารถที่จะตอบสนองการร้องขอของมิตรประเทศได้ ทั้งในการปฏิบัติการเพื่อช่วยเหลือทางมนุษยธรรม ความร่วมมือในการต่อต้านยาเสพติด หรือ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ขีดความสามารถของกองทัพบกสหรัฐฯ ยังจะต้องสนับสนุนและชดเชยเหล่าทัพอื่นในการปฏิบัติการร่วม และมิตรประเทศในการปฏิบัติการผสมด้วย
23. พลเอกชินเซกิ เสนาธิการทหารบกสหรัฐฯ ได้บรรยายถึงแนวความคิดที่กองทัพบกสหรัฐฯ ตั้งใจที่จะดำเนินการปฏิรูปและปรับเปลี่ยนกองทัพบกสู่ศตวรรษที่ 21 โดยใช้โครงสร้างกำลังกองทัพ 3 ประการ เป็นแนวทางในการกำหนดแผน พร้อมทั้งทิศทางและขอบเขตการดำเนินงาน คือ The legacy force, The objective force, และ The interim force รวมทั้งได้อธิบายวิธีการที่จะฝึกกำลังพลและการสร้างผู้นำระดับต่างๆ ของกองทัพในอนาคต ในรายละเอียดน่าจะได้มีการศึกษาแนวความคิดและวิธีการที่สหรัฐฯ ใช้ แม้กองทัพไทยจะไม่สามารถนำมาใช้ได้ แต่ก็น่าจะเป็นประโยชน์ในการใช้เป็นพื้นฐานในการศึกษา และการปรับปรุงกองทัพบกไทยให้เหมาะสมต่อไป

MOOTW ของกองทัพไทย

24. เมื่อพิจารณาลักษณะ ขอบเขต และรูปแบบการปฏิบัติการทางทหาร ทั้งการรบในสงคราม กับ การปฏิบัติภารกิจอื่นนอกเหนือจากสงครามในยามสงบแล้ว โดยประเทศที่เจริญแล้ว และมีการพัฒนากองทัพที่ทันสมัย เริ่มจะให้ความสำคัญเมื่อประมาณ 10 ปีที่แล้ว หลังสงครามเย็นยุติลง ภัยคุกคามจากการรุกรานด้วยกำลังทหารของมีแนวโน้มจะหมดไป การใช้กำลังทหารเพื่อการสงคราม จึงมีโอกาสเกิดขึ้นน้อยมากหรือแทบไม่มีเลย ภารกิจส่วนใหญ่ที่กำลังทหารได้ถูกนำไปใช้ คือ การปฏิบัติการรักษาสันติภาพ การบรรเทาสาธารณภัย การช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ และการช่วยพัฒนาและสร้างประเทศที่ด้อยพัฒนา การปฏิบัติการเหล่านี้ ถือเป็นการปฏิบัติการในยามสงบ และส่วนใหญ่จะเป็นการปฏิบัติการนอกประเทศ จะมีเฉพาะการบรรเทาสาธารณภัยและการช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติต่างๆ เท่านั้น ที่เป็นการปฏิบัติภายในประเทศด้วย เมื่อความเสียหายสาหัสเกินกว่าหน่วยงานพลเรือนจะสามารถจัดการได้ ภารกิจเหล่านี้จึงเป็นภารกิจใหม่ ที่กองทัพไม่มีความคุ้นเคย ไม่มีหลักนิยม ไม่มีการเตรียมแผนและความพร้อมไว้ล่วงหน้า ดังนั้น แนวความคิดของประเทศเหล่านี้ จึงมุ่งเน้นที่การปรับเปลี่ยนการจัดกำลังกองทัพใหม่ ให้สอดคล้องกับภารกิจเหล่านี้ และความต้องการที่น่าจะเกิดขึ้นในอนาคต อย่างไรก็ตาม ภารกิจอื่นๆ นอกเหนือจากการรบ ที่สถาบันทหารของประเทศที่เจริญแล้ว เข้าไปมีส่วนร่วมมากเป็นพิเศษในขณะนี้ คือ การจัดการกับปัญหายาเสพติด การก่อการร้ายสากล และอาชญากรรมข้ามชาติ ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงข้ามชาติ (Transnational Security Threats) ที่ต้องมีการปฏิบัติทั้งภายในประเทศและภายนอกประเทศ
25. ส่วนประเทศที่ด้อยพัฒนาและกำลังพัฒนา ก็มักจะจำกัดการปฏิบัติการเหล่านี้ภายในประเทศของตน และอาศัยความร่วมมือและช่วยเหลือจากมหาอำนาจในการจัดการต่อปัญหาความมั่นคงข้ามชาติ บางประเทศที่พร้อมมากขึ้น และมีทัศนะที่กว้างไกลกว่า ก็จะใช้กำลังทหารในการดำเนินนโยบายต่างประเทศ ด้วยการส่งไปปฏิบัติการนอกประเทศร่วมกับกองกำลังนานาชาติ เพื่อเสริมสร้างภาพลักษณ์ที่ดีในประชาคมโลก และพลังอำนาจทางการเมืองระหว่างประเทศของตนเอง กับทั้งเป็นการเสริมสร้างกำลังกองทัพ ทั้งขวัญกำลังใจ สวัสดิการ และประสบการณ์ให้กับกำลังพล ให้มีความพร้อมรบตลอดเวลาได้อีกด้วย
26. สำหรับกองทัพไทยนั้น ได้ปฏิบัติภารกิจบางประการเหล่านี้มานานแล้ว โดยเฉพาะการช่วยพัฒนาประเทศและการช่วยเหลือประชาชน การบรรเทาสาธารณภัยและการกู้ภัยพิบัติที่รุนแรง รวมทั้งการใช้กำลังทหารในการรักษาความมั่นคงภายใน และการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ เมื่อได้รับการร้องขอจากส่วนราชการพลเรือน หรือได้รับมอบหมายจากรัฐ มีภารกิจหลายประการที่กองทัพคุ้นเคย มีแนวทาง และแผนการปฏิบัติ อันที่เป็นที่ยอมรับว่า ดีและใช้ได้ จนประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น การใช้กำลังทหารในการช่วยพัฒนาประเทศและช่วยเหลือประชาชน ประกอบกับการปฏิบัติการจิตวิทยา และการใช้ยุทธศาสตร์การเมืองนำการทหาร เพื่อเอาชนะใจราษฎรชาวไทยทุกฝ่ายที่มีความคิดเห็นขัดแย้งกัน ให้หันกลับมาร่วมช่วยกันพัฒนาชาติไทย หรือที่เรียกว่า การปฏิบัติการตาม "Hearts and Minds Program" รวมทั้งการช่วยเหลือประชาชน ให้ได้มีโอกาสพัฒนาและสามารถช่วยเหลือตนเองได้ มีพออยู่พอกิน ตามโครงการพระราชดำริต่างๆ ซึ่งกองทัพไทยได้นำแนวทางและประสบการณ์เหล่านี้ ไปใช้ในการปฏิบัติการรักษาสันติภาพ ที่ติมอร์ตะวันออกด้วย และประสบความสำเร็จอย่างสูง
27. อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทัพไทยจะมีประสบการณ์อยู่บ้างในภารกิจเหล่านี้ และมีการจัดหน่วยไว้โดยเฉพาะ เช่น กองพลพัฒนา เป็นต้น แต่การปฏิบัติที่ผ่านมาก็มีข้อจำกัดพอสมควร เช่น การจัดตั้งหน่วยสำหรับการช่วยเหลือพัฒนาประเทศเหล่านี้ยังไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ และการขาดแคลนยุทโธปกรณ์และงบประมาณ เป็นต้น ในหลายภารกิจกองทัพจำเป็นต้องใช้ส่วนกำลังรบ ซึ่งจะทำให้ภารกิจการเตรียมกำลังและการใช้กำลังในการป้องกันประเทศ ซึ่งเป็นภารกิจหลัก ขาดตกบกพร่อง ทำให้ขาดความพร้อมรบได้ นอกจากนี้ ยังมีปัญหาทางการเมือง ความสัมพันธ์ระหว่างฝ่ายการเมือง พลเรือน และทหาร และปัญหางบประมาณ ที่ทำให้กองทัพต้องจำกัดบทบาทตนเอง ในการรักษาความมั่นคงภายในและการรักษาความสงบเรียบร้อยภายในประเทศลงไป ซึ่งขีดความสามารถและความพร้อมในภารกิจ 2 ประการนี้ เมื่อจำเป็นต้องใช้กำลังทหารเข้าปฏิบัติการ จะลดลงด้วย โดยเฉพาะในการแก้ปัญหายาเสพติด ซึ่งกำลังส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงต่อความมั่นคงของชาติ และกองทัพได้ถูกใช้เป็นเครื่องมือสำคัญในขณะนี้
28. แม้กองทัพจะไม่มีหน้าที่โดยตรงในการกิจอื่นนอกเหนือจาการรบเพื่อการป้องกันประเทศ แต่ก็ถือว่าเป็นหน้าที่สำคัญที่ต้องปฏิบัติด้วย เพราะภารกิจเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญแล้ว และที่สำคัญที่สุด คือ เป็นพระราชกระแสรับสั่งของพรบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว จอมทัพไทย ที่พระราชทานแก่ผู้บังคับบัญชาและทหารหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นภารกิจในการช่วยเหลือประชาชนในการบรรเทาภัยพิบัติต่างๆ การช่วยเหลือ สนับสนุนการพัฒนาประเทศ และการป้องกันและปราบปรามยาเสพติด ที่กองทัพต้องใช้ขีดความสามารถทั้งสิ้นที่มีอยู่แล้ว ในการปฏิบัติภารกิจเหล่านี้อย่างเต็มที่ ส่วนในภารกิจอื่นๆ ในยามสงบนั้น กองทัพต้องติดตามสถานการณ์โดยต่อเนื่อง โดยเฉพาะสถานการณ์ที่มีศักยภาพและแนวโน้มที่จะเป็นภัยคุกคามต่อความมั่นคงของของชาติ และความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ
29. การใช้พลังอำนาจทางทหาร อันเป็นเครื่องมือสำคัญของรัฐ ในยามสงบนั้น ทหารไม่อาจปล่อยให้นักการเมืองคิดและใช้ได้อย่างตามอำเภอใจ หรือใช้โดยไม่มีความรู้ความสามารถในการใช้ จึงเป็นการสมควรที่จะต้องเฝ้าดูและตรวจสอบ เพื่อป้องกันมิให้นักการเมืองละเลยกำลังทหาร หรือใช้กำลังทหารอย่างไม่ถูกต้อง ในยามสงคราม นักการเมืองเคยกล่าวว่า ไม่สมควรปล่อยให้ท่านนายพลทำการรบตามความอำเภอใจ ต้องมีฝ่ายการเมืองควบคุม ในทางกลับกัน ในยามสงบ ก็ไม่ควรปล่อยนักการเมืองทำการปกครองประเทศ พัฒนาประเทศ และจัดการกับปัญหาความมั่นคงต่างๆ ตามความต้องการของตนเองได้เช่นกัน ต้องมีการควบคุมตรวจสอบ เพื่อให้ประเทศชาติและภูมิภาคมีความสงบเรียบร้อยต่อไป โดยเฉพาะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของชาตินั้น ทหารควรเข้าไปเกี่ยวข้อง แสดงความคิดเห็น มีส่วนร่วม และให้การสนับสนุนช่วยเหลือ ตามความสามารถที่มีอยู่และขอบเขตที่เหมาะสม ตามคำกล่าวของ Dr. William Perry อดีตรัฐมนตรีว่าการกลาโหมสหรัฐฯ ว่า "Some have said that war is too important to be left solely to the generals. Preventive defense says peace is too important to be left solely to the politicians." แนวความคิดพื้นฐานคือ การใช้การทูตเชิงป้องกัน ในยามสงบ เพื่อการดำรงรักษาสันติภาพและความสงบไว้ นับเป็นการป้องกันประเทศที่สำคัญที่สุด ที่ไม่ควรปล่อยให้นักการเมืองดำเนินการโดยลำพัง และจะต้องมีการใช้กำลังทหารในฐานะเครื่องมือของรัฐ อย่างเหมาะสม ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด เพื่อป้องกันมิให้เกิดสงคราม และการใช้กำลังทหารในที่สุด
30. กองทัพบกไทย ต้องคิดไว้เช่นกันว่า ในศตวรรษข้างหน้านี้ การใช้กำลังทหาร ในฐานะเครื่องมือของรัฐ จะมีลักษณะและรูปแบบ เช่นใด และทำอย่างไร กองทัพบกจึงจะปรับตัวเอง ทั้งในด้านโครงสร้างกำลัง หลักนิยม การฝึกศึกษาและการซ้อมรบ ให้เหมาะสม สามารถตอบสนองสถานการณ์ทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
บทความ พันเอก ธิวา เพ็ญเขตกรณ์

วันพุธที่ 25 มีนาคม พ.ศ. 2552

บทความ

บทความน่ารู้

    1. เครื่องหมายยศทหารไทย (รายละเอียด)
    2. พรบ.การกระทำผิดด้านคอมพิวเตอร์ (รายละเอียด)
    3. เครื่องราชอิสริยาภรณ์ (รายละเอียด)
    4. ความรู้ทั่วไปเกี่ยวกับทหาร(รายละเอียด)

วินัยทหาร และการลงทัณฑ์

มาตรา ๔ วินัยทหารนั้นคือ การที่ทหารต้องประพฤติตามแบบธรรมเนียมของทหารมาตรา ๕ วินัยเป็นหลักสำคัญที่สุดสำหรับทหาร เพราะฉะนั้นทหารทุกคนจักต้องรักษา โดยเคร่งครัดอยู่เสมอ ผู้ใดฝ่าฝืนท่านให้ถือว่าผู้นั้นกระทำผิดตัวอย่างการกระทำผิดวินัยทหาร มีดังต่อไปนี้
๑.) ดื้อ ขัดขืน หลีกเลี่ยง หรือละเลยไม่ปฏิบัติตามคำสั่งผู้บังคับบัญชา เหนือตน
๒.) ไม่รักษาระเบียบการเคารพระหว่างผู้ใหญ่ผู้น้อย
๓.) ไม่รักษามรรยาทให้ถูกต้องตามแบบธรรมเนียมของทหาร
๔.) ก่อให้แตกความสามัคคีในคณะทหาร
๕.) เกียจคร้าน ละทิ้ง หรือเลินเล่อต่อหน้าที่ราชการ
๖.) กล่าวคำเท็จ
๗.) ใช้กิริยาวาจาไม่สมควร หรือประพฤติไม่สมควร
๘.) ไม่ตักเตือนสั่งสอน หรือลงทัณฑ์ผู้ใต้บังคับบัญชาที่กระทำความผิดตามโทษานุโทษ
๙.) เสพเครื่องดองของเมาจนเสียกิริยา
มาตรา ๖ ผู้บังคับบัญชา มีหน้าที่จัดการระวังรักษาวินัยทหารที่ตนเป็นผู้บังคับบัญชาอยู่นั้น โดยการกวดขัน ถ้าหากว่าในการรักษาวินัยทหารนั้น จำเป็นต้องใช้อาวุธ เพื่อทำการปราบปรามทหารผู้ก่อการกำเริบก็ดี หรือเพื่อบังคับทหารผู้ละทิ้งหน้าที่ให้กลับทำหน้าที่ของตนก็ดี ผู้บังคับบัญชาและผู้ที่ช่วยเหลือในการนั้นจะไม่ต้องรับโทษ ในการที่ตนได้กระทำไป โดยความจำเป็นนั้นเลย แต่เมื่อมีเหตุดั่งกล่าวนี้ ผู้บังคับบัญชา จักต้องรายงานไปยังผู้บังคับบัญชาเหนือตน และรายงานต่อไปตามลำดับชั้นจนถึงรัฐมนตรี ว่าการกระทรวงกลาโหมโดยเร็ว มาตรา ๗ ทหารใดกระทำผิดต่อวินัยทหารจักต้องรับทัณฑ์ตามวิธีที่ปรากฎในหมวด อำนาจลงทัณฑ์ แห่งพระราชบัญญัตินี้ และอาจต้องถูกปลดจากประจำการ หรือถูกถอดจากยศทหาร

อำนาจการลงทัณฑ์

มาตรา ๘ ทัณฑ์ที่จะลงโทษแก่ผู้ที่กระทำผิดต่อวินัยทหาร นั้น ให้มีกำหนดเป็น ๕ สถาน คือ
๑.) ภาคทัณฑ์
๒.) ทัณฑกรรม
๓.) กัก
๔.) ขัง
๕.) จำขัง
มาตรา ๙ ภาคทัณฑ์ คือ ผู้กระทำผิดมีความผิดอันควรต้องรับทัณฑ์สถานหนึ่งสถานใดดั่งกล่าวมาแล้ว แต่มีเหตุอันควรปรานี จึงเป็นแต่แสดงความผิดของผู้นั้นให้ปรากฎหรือให้ทำทัณฑ์บนไว้ ทัณฑกรรมนั้นให้กระทำการสุขา การโยธา ฯลฯ เพิ่มจากหน้าที่ประจำซึ่งตนจะต้องปฏิบัติอยู่แล้ว หรือปรับให้อยู่เวรยามนอกจากหน้าที่ประจำ กัก คือ กักตัวไว้ในบริเวณใดบริเวณหนึ่งตามแต่จะกำหนด ขัง คือ ขังในที่ควบคุมแต่เฉพาะคนเดียวหรือรวมกันหลายคน แล้วแต่จะได้มีคำสั่ง จำขัง คือ ขังโดยส่งไปฝากให้อยู่ในความควบคุมของเรือนจำทหารนอกจากทัณฑ์ที่กล่าวไว้นี้ ห้ามมิให้คิดขึ้นใหม่ หรือใช้วิธีลงทัณฑ์อย่างอื่นเป็นอันขาด
มาตรา ๑๐ ผู้มีอำนาจบังคับบัญชาซึ่งลงทัณฑ์แก่ผู้กระทำผิดได้นั้น คือ
(๑) ผู้บังคับบัญชา หรือ
(๒) ผู้ซึ่งได้รับมอบอำนาจให้บังคับบัญชาตามที่กระทรวงกลาโหม ส่วนราชการที่ขึ้นตรงต่อกระทรวงกลาโหม กองทัพบก กองทัพเรือ หรือกองทัพ-อากาศกำหนด
Google